จะฟูจะก่า

 

วันนี้…วันที่สามธันวาคม  อีกสองวันก็วันพ่อแล้วสินะ  หลายคนกลับไปหาพ่อผู้ให้กำเนิด กลับไปเยี่ยมครอบครัวที่ห่างหายมานาน  แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่ทำความดีเพื่อพ่อโดยการมาเป็นครูบ้านนอก  สัมผัสวิถีความเป็นอยู่  เรียนรู้วัฒนธรรมและให้ความรู้แก่คนในชุมชน  เพราะคนเราไม่จำเป็นต้องจบสายการเรียนอาชีพครูโดยตรงเพียงแต่เรามีใจรักที่ จะเป็นผู้ถ่ายทอด  ผู้ให้ความรู้  เท่านี้ก็เกินพอสำหรับผู้รับ  การ มาเป็น”ครูบ้านนอก”  แม้ระยะเวลาเพียงสี่คืนห้าวันแต่มันคุ้มค่าสำหรับการเดินทางและเวลาที่เรา สละมาเพื่อชุมชนแห่งดินแดนชนบท  “ครูบ้านนอกรุ่น 79”  ทั้งหกสิบเก้าคน  เดินทางมาด้วยอุดมการณ์เดียวกับนั้นคือการเป็นผู้ให้ ทั้งแรงกายแรงใจ ที่มอบให้คนในชุมชนบ้านจะฟู –  จะก่า  ที่ห่างไกลตัวเมืองประมาณ  60  กิโลเมตร

การ เดินทางก็แสนลำบาก  ทางลาดบ้างชันบ้างตามแต่สภาพถนน  แต่ครูทุกคนที่มาหาได้ท้อต่อการเดินทางไม่  กลับยิ่งได้มุมมองอะไรใหม่ ๆ ให้แก่ตัวเองและสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะ…ครูสุรางค์ศรี  ที่มาเป็นครูบ้านนอกด้วยวัย  67  ปี  ทำให้คณะครูทุกคนที่มาถึงกับทึ่งในการรักการเดินทางเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ของท่านโดยขนานนามท่านเป็น  ครูใหญ่บ้าง  ครูแม่บ้าง

วันแรกของการเดินทาง… ครูบ้านนอกแต่ละคนมาจากทุกสารทิศของประเทศไทย มารวมตัวกันที่ขนส่งจังหวัดเชียงราย และเดินทางเข้ามาที่มูลนิธิกระจกเงา ผ่านกระบวนการปฐมนิเทศน์ และการเตรียมตัวก่อนเข้าชุมชน หลังจากนั้นก็ทานข้าวร่วมกันก่อนเตรียมตัวเดินทางเข้าหมู่บ้าน ซึ่งการเดินทางครั้งนี้พ่อหลวงบ้านจะฟู พร้อมลูกบ้าน และพ่อบ้านจะก่ามารอรับที่กระจกเงาเพื่อขนสัมภาระ และคณะครูบ้านนอก การเดินทางก็เริ่มขึ้นเมื่อล้อเริ่มหมุน ถึงแยกบ้านกะเหรี่ยงรวมมิตรคณะครูก็ต้องลงเดินเท้าเพราะเป็นกระบวนการหนึ่งที่ครูได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่รายล้อมรอบตัวแม้กระทั่งเรียนรู้ตัวเอง ระยะทางที่เดินแม้จะไม่ไกลนักแต่ก็หนักเอาการสำหรับครูที่ไม่เคยเดินทางไกล

รถขนสัมภาระไปไว้ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และตีรถกลับไปรับคณะครูที่เดินมาอีกรอบหนึ่งโดยไม่บ่นสักคำแม้ระยะทางจะแสนไกลและค่อนข้างโหดทีเดียว เมื่อครูทุกคนมาถึงจุดหมายนั้นคือบ้านจะฟู – จะก่า ก็แบ่งครูเข้าบ้านแต่ละหลัง ทั้งบ้านจะฟูและจะก่า ทั้งสองหมู่บ้านห่างกันประมาณ 500 เมตร โดยการจับฉลากเข้าบ้าน วันนี้อาหารมื้อแรกคือมื้อเย็นที่ครูได้แสดงฝีไม้ลายมือในการทำอาหารทานร่วมกับครอบครัวที่เข้าพักหลังจากนั้นก็มารวมตัวกันทำกิจกรรมสันทนาการที่บ้านจะฟู หงะเอ (แม่) หงะปา (พ่อ) คณะครูและเด็ก ๆ ต่างสนุกสนานขุนเขาแห่งนี้มีเสียงหัวเรากลบความเงียบเหงาในยามค่ำคืนอีกครั้งหนึ่ง ก่อนแยกย้ายกันพักผ่อนหลังจากเหนื่อยล้าจากการเดินทาง

ช้าวันใหม่…เป็นวันอาทิตย์ วันนี้คณะครูบ้านนอกพร้อมเด็ก ๆ เดินทางด้วยเท้าไปดอยบ่อ ระยะทางประมาณ 7.8 กิโลเมตร ครูหลายท่านเริ่มบ่น เริ่มท้อต่อระยะทาง แต่เพราะแววตาและรอยยิ้มของเด็กที่เดินทางมาด้วยทำให้ครูมีแรงฮึดในการเดินทางขึ้นมาอีก การเดินทางไปครั้งนี้เพื่อศึกษาดูงานในโครงการ ที่มีหลากหลายงานด้วยกันไม่ว่าจะเป็นงานด้านการป้องกัน งานก้านการเกษตร ฯลฯ เที่ยงก็รับประทานอาหารร่วมกันระหว่างคณะครูและเด็ก ๆ หลังแยกย้ายกันพักผ่อน บ่ายสองโมงวิทยากรก็มาบรรยายเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมาของตัวโครงการที่ทำขึ้นมาให้ครูได้รับทราบและแนะนำสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นศาลาทรงงานของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พลับพลาที่ประทับ พันธุ์พืชต่าง ๆ เป็นต้น

งานนี้ครูได้ผักกลับมาทานกันเป็นกระบุง หลังจากเสร็จกิจกรรมก็เดินทางกลับโดยมีรถหกล้อจากทางโครงการมาส่งคณะครูที่ปากทางเข้าหมู่บ้าน และชาวบ้านเอารถมารอรับ และครูบางส่วนก็ช่วยกันขนพันธุ์กล้าไม้เพื่อใช้ปลูกในวันพ่อแห่งชาติ คืนนี้เป็นคืนที่สอง พ่อจะก่าและหงะเอ – หงะปาได้มีการโชว์การเต้นจะคึ เพื่อเป็นการเต้นให้ครูที่จะเดินทางกลับก่อนในวันรุ่งขึ้นได้เห็นและได้เต้นร่วมกันก่อนเดินทางกลับ หลังจากนั้นเป็นกิจกรรมสันทนาการนำโดยกลุ่มสองเป็นกลุ่มนำกิจกรรมก่อนแยกย้ายกันเข้านอน

เช้าวันฟ้าโปร่งวันพ่อแห่งชาติ..ก็มาถึง วันนี้ครูบ้านนอกได้ร่วมกับเด็กๆและชาวบ้านร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันพ่อแห่งชาติ ร่วมกันปลูกร่วมกันรดน้ำ เพื่อให้ต้นไม้ยืนยงคู่ผืนดิน ครูบางส่วนที่ติดภาระกิจก็เดินทางกลับในวันนี้เช่นกัน ช่วงบ่ายครูก็ทำกิจกรรมกับเด็กโดยให้เด็กระบายสีบ้าง วาดภาพบ้าง ตามแต่ครูถนัดงัดวิชากันมาสอนจนสุดความสามารถ ตกเย็นอากาศเริ่มหนาวกลุ่มเมฆเริ่มจับตัวเป็นก้อนสีดำ และปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เราห้ามไม่ได้ก็เกิดขึ้นนั้นคือฝนตกในหน้าฝน มันทั้งหนาวทั้งเย็น แต่ก็ดีเพราะต้นไม่ที่ร่วมกันปลูกไปเมื่อเช้ามันจะได้น้ำ บ้านจะฟู – จะก่าเป็นหมู่บ้านที่ไม่มีน้ำต้องเดินทางไปเอาน้ำมาจากลำธารข้างล่างซึ่งทำเป็นน้ำประปาภูเขา

ข้อนี้เองได้สอนคณะครูบ้านนอกอีกนัยหนึ่งในเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัดเพราะมันลำบากจริง ๆ กว่าจะได้น้ำมาสักหนึ่งถัง ทั้งหนักทั้งเหนื่อยครูหลายคนรู้ซึ้งคุณค่าของน้ำก็คราวนี้เอง ยามมืดค่ำการรวมตัวก็เกิดขึ้นอีกครั้งเพื่อมาทำกิจกรรมสันทนาการของกลุ่มที่สาม แต่ฟ้าฝนไม่เป็นใจต้องเลิกกิจกรรมเร็วกว่าที่กำหนด

รุ่งอรุณของวันที่สี่…วันนี้บรรยากาศเป็นใจหลังจากฝนตกมาทั้งคืนประกอบกับอากาศหน้าหนาว ทำให้ครูหลายคนไม่อยากลุกจากที่นอน แต่ก็ต้องฝืนใจลืมตาเพื่อมาทำกิจกรรมการเรียนการสอนเด็ก ๆ และชาวบ้าน ช่วงเช้าแบ่งกิจกรรมการเรียนการสอนที่บ้านจะฟูและบ้านจะก่า โดยการเรียนการสอนจะสอนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ครูต้องใช้วิชาความสามารถเฉพาะอีกแล้วในการสอนในวันนี้ โดยเฉพาะครูที่สอนเด็ก ๆ เพราะเด็กหลายคนรวมตัวกันมันก็เหมือนจับปูใส่กระด้ง จะให้เรียบร้อยมันก็ผิดวิสัยเด็ก เล่นเอาครูเหนื่อยไปตาม ๆ กัน

ช่วงบ่ายก็เป็นกิจกรรมการแข่งขันกีฬา โดยแบ่งเป็นกลุ่มสี ประกอบด้วยสีฟ้า สีแดง สีเหลือง และสีเขียว คละกันทั้งครู เด็ก และหงะเอ หงะปา กีฬาก็เป็นกีฬาง่าย ๆ ที่เล่นกันได้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นวิ่งเปี้ยว เรือบก ชักกะเย่อ โดยการแข่งขันชักกะเย่อเป็นการแข่งขันระหว่างคณะครูและหงะปา ปรากฏว่าคณะครูชนะไป 2 – 1 เกม สร้างความสามัคคีและความฮาเอได้เป็นอย่างมากทีเดียว

 

คืนนี้ชาวบ้านจะเต้นจะคึ เพื่อเป็นการแสดงให้คณะครูได้ชมและร่วมเต้นด้วยกันครูหลายคนใส่ชุดชนเผ่าสร้างความแปลกใหม่ในการแต่งกายได้อีกรูปแบบหนึ่งเพราะไม่สามารถหาซื้อที่ไหนมาได้ ความประทับใจอีกจุดหนึ่งก็มาจากจุดนี้เอง เช้าอีกวันก็มาถึงแต่มันเป็นเข้าที่บรรยากาศค่อนข้างเหงาเศร้าเพราะวันนี้เป็นวันที่ครูต้องเดินทางกลับ ชาวบ้านพร้อมเด็กมาส่งขึ้นรถ น้ำตาที่ครูบางคนกลั้นไว้มันเริ่มเอ่อ และรินไหลลงมาราดรดสองแก้มโดยมิอาจกลั้นได้อีกต่อไป

…คนเรามีพบเจอก็ต้องมีจากกันแต่ความฝัน ความดีที่ทำร่วมกันมันยังคงอยู่ในใจเสมอ…

ขอขอบคุณคนที่มีหัวใจเป็นครูทุกท่าน
โครงการครูบ้านนอก

 

Leave a Reply

scroll to top