สุขอยู่ที่ใด สุขอยู่ที่ใจ

“หนูขอลาโดยไม่รับเงินเดือน หนึ่งเดือนครึ่งค่ะ”
นี่เป็นประโยคที่ฉันพูดกับฝ่ายบุคคลของบริษัทที่ฉันทำงานอยู่ เพื่อนร่วมงานแทบจะทุกคนต่างยิงคำถามหลังรู้เรื่องการลาของฉันครั้งนี้
“จะไปไหน ไปทำอะไร ไปทำไม ไปเพื่ออะไร…” เอ่อออ หนูจะลาไปเป็นอาสาสมัครช่วยงานที่มูลนิธิกระจกเงาเชียงรายค่ะ ทุกคนก็ต่างแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป บางคนก็อาจจะไม่เข้าใจถึงเหตุผลในการลาโดยไม่รับเงินเดือนครั้งนี้ แต่ส่วนใหญ่ก็ต่างสนับสนุนและมักจะตบท้ายด้วยประโยคในรูปแบบเดียวกันว่า “ดีแล้วหล่ะ พี่อยากไปบ้างจัง พี่ก็อยากลองทำดูบ้างนะ…”

ฉันก็ได้แต่ตั้งคำถามในใจ ซึ่งเป็นคำถามที่ยังไม่เคยเอ่ยออกไป อยากทำแล้วทำไมไม่ลองมาดูหล่ะ?

นี่คือสถานแห่งบ้านทรายทองที่ฉันปองมาสู่… นึกว่าตัวเองเป็นพจมานลากกระเป๋าเข้าบ้านทรายทองซะแล้ว ฉันเคยมีโอกาสแวะเข้ามาที่มูลนิธิสองครั้งแล้ว แต่ก็ยังคงรู้สึกว่าที่นี่เงียบสงบและอบอุ่นเสมอ ฉันถูกจัดให้อยู่บ้านหลังเดียวกับน้องๆ ฝึกงานทั้งหมด 8 คน จากที่เคยมีห้องนอน ห้องน้ำส่วนตัว ตอนนี้ก็ต้องปรับตัวโดยการนอนรวม ใช้ห้องน้ำรวม ช่วยกันดูแลทำความสะอาดบ้าน ต้องเริ่มทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ การอยู่อาศัยกับคนแปลกหน้าไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่สำหรับฉันนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันรู้สึกทำใจยากทุกครั้งที่ต้องทำมันก็คือ การอาบน้ำเย็นๆ จากตุ่ม เนื่องจากมูลนิธิกระจกเงาตั้งอยู่ในหุบเขา อากาศจึงค่อนข้างจะเย็นสักหน่อย ฉันดิ้นเหมือนไส้เดือนโดนขี้เถ้าทุกครั้งที่ต้องอาบน้ำ ใครจะคิดว่าเดือนตุลาอากาศมันจะเริ่มหนาวแล้ว กว่าฉันจะทำใจสระผมได้ ก็ปาเข้าไปวันที่สามของการอยู่ที่นี่ แต่เอาหน่า เข้าห้องน้ำแล้วเอาน้ำราดๆ ผนังเอา ไม่มีใครรู้หรอก ว่าเราได้อาบน้ำจริงๆรึป่าว!

ระหว่าอยู่ที่นี่ ฉันจะต้องปรับเปลี่ยนนาฬิกาชีวิตใหม่ เข้านอนเร็วประมาณสี่ทุ่ม และตื่นไม่เกินเจ็ดโมงเช้า แต่การอยู่ที่ครูอาสานี่มันทำให้ฉันมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น มีเวลาหยิบหนังสือที่ชอบมานั่งอ่านก่อนนอน มีเวลานั่งเงียบๆ แล้วเสียบหูฟังฟังเพลงโปรด นั่งมองวิวกระต๊อบกลางทุ่งนาระหว่างซักผ้า สิ่งเหล่านี้มันอาจจะไม่ได้ดูแปลกนักสำหรับคนที่นี่ แต่สำหรับคนเมืองอย่างฉัน ฉันแทบจำไม่ได้ว่า ครั้งสุดท้ายที่หยิบหนังสือเล่มโปรดมาอ่านมันเมื่อไหร่กันนะ เพราะหลังจากที่ฉันเรียนจบและทำงาน ฉันก็แทบจะไม่มีเวลาอยู่กับสิ่งที่ฉันชอบเลย นอกจากจะมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ฉันยังได้มีโอกาสช่วยเหลืองานมูลนิธิ เริ่มตั้งแต่การช่วยรับอาสาชาวต่างชาติ ลงพื้นที่กับทีมสัญชาติให้ความรู้เรื่องบุคคลไร้สัญญาติรวมถึงการคีย์ข้อมูลลงระบบ ช่วยงานที่เกสเฮ้าส์ วาดรูปเล่นกับเด็กๆ ที่เข้ามาวิ่งเล่นในมูลนิธิระหว่างปิดเทอม ถางหญ้าและทำความสะอาดหน้าทางเข้ามูลนิธิ แต่งานหลักๆ ที่ฉันมีโอกาสได้ช่วยคือ การทำค่ายครูบ้านนอก

 

ครูบ้านนอก รุ่นที่ 170 จัดขึ้น ณ หมู่บ้านห้วยกุ๊ก อำเภอเวียงแก่น ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวม้ง มีครูบ้านนอกร่วมเดินทางทั้งหมด 37 ท่าน ค่ายนี้ฉันมีโอกาสได้ช่วยเหลือตั้งแต่การจัดซื้ออาหารสด อาหารแห้งสำหรับครูบ้านนอก ช่วยจัดครูอาสาเตรียมในส่วนต่างๆ ที่พอจะช่วยได้ รวมถึงร่วมกิจกรรมกับครูบ้านนอก และกิจกรรมแรกที่ครูบ้านนอกจะต้องเจอก็คือ การเดินเท้าไปยังหมู่บ้าน เท่าที่ทราบนั้น แต่ละรุ่นก็จะมีเส้นทางการเดินที่แตกต่างกันไป แต่การเดินไปยังหมู่บ้านห้วยกุ๊กครั้งนี้ คือการเดินขึ้นดอย ทางเราแจ้งกลุ่มครูบ้านนอกว่า การเดินเท้าจะใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง (แต่เท่าที่มาโรงเรียนวันก่อนหน้านั้น ฉันรู้เลยว่า… มันไม่ใช่เลย มันไม่ใช่เลย!) ในช่วงกิโลเมตรแรกๆ ทุกคนยังเดินไปคุยไป หยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน พอเริ่มเข้ากิโลเมตรที่สี่ที่ห้า ทุกคนต่างเริ่มมองหาเส้นชัย ซึ่งแปลกมากที่ยิ่งเดินก็ยิ่งรู้สึกว่าไม่ถึงซะที ทำไมมองไปข้างหน้ามีแต่ทางชัน เหมือนยอดดอยกำลังขยับหนีเราออกไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่มันก็ดูเหมือนจะใหญ่ขึ้น แต่ตอนนี้จะให้หันหลังกลับยังไงหล่ะ ก็ต้องเดินต่อไปสินะ ครูบ้านนอกเริ่มจะส่งเสียงดังอีกครั้งก็ตอนที่เจอชาวบ้านขับมอเตอร์ไซค์ผ่าน และบอกกับพวกเราว่า อีกไกลมากเลยนะกว่าจะถึงหมู่บ้าน และทางนี้ก็อ้อมเยอะด้วย ทำไมไม่นั่งรถกันหล่ะ? เอาหล่ะซี ครูบ้านนอกที่เดินร่วมทางก๊วนเดียวกับฉันต่างหันมามองหน้าฉัน พร้อมมีเครื่องหมายคำถามอยู่บนหน้า??? กว่าทุกคนจะถึงที่หมายครบก็ใช้เวลาเดินทั้งสิ้นเกือบสี่ชั่วโมง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าขาแทบจะไม่มีแรง สำหรับฉัน บุคคลที่ออกกำลังกายไม่ถึงสิบครั้งต่อปี แม้แต่จะเดินไปหยิบน้ำดื่ม ยังแทบจะก้าวขาไม่ออก แต่แปลกนะ พอถึงที่หมายทุกคนกลับมีแต่เสียงหัวเราะและรอยยิ้มเปื้อนบนใบหน้า ฉันเชื่อว่ากิจกรรมนี้ ทำให้ทุกคนได้รู้จักกันมากขึ้น ได้รู้จักการช่วยเหลือ การให้กำลังใจกัน และที่สำคัญที่สุด มันทำให้ทุกคนมีเรื่องเล่าเรื่องเดียวกัน การเดินทางจะสนุกได้อย่างไร หากไร้ซึ่งเรื่องเล่าที่จะคอยเป็นตัวแทนแห่งความทรงจำของพวกเรา

วันที่สองของการร่วมค่ายนั้น เป็นวันแห่งการสอน ตอนเช้าเราได้เข้าแถวเคารพธงชาติและสวดมนต์กับเด็กๆ ครูอาสาแต่สิ่งหนึ่งที่ที่นี่ดูจะแตกต่างออกไปจากโรงเรียนในเมือง นั่นคือการร้องเพลงด้วยรักและภักดี “เราคือคนไทย มิใช่คนป่า เราดูด้อยค่า เพราะไม่ได้เล่าเรียน…” เนื้อเพลงนี้สามารถบ่งบอกถึงความรู้สึกของเด็กๆ ที่นี่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเด็กๆ เกือบทั้งหมดยังคงเป็นบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ พวกเขามีตัวตนหากแต่ต้องอยู่เสมือนไร้ตัวตน ฟังเนื้อเพลงพร้อมเสียงร้องของเด็กๆ แล้ว ทำให้ครูบ้านนอกทุกท่านรู้สึกจุกไม่น้อยเลยทีเดียว คงจะจริงอย่างที่พี่ปู พงษ์สิทธิ์กล่าวว่า ไทยกับไทยใยแตกต่างกัน? วันนี้ครูบ้านนอกจะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่ม โดยสอนนักเรียนในระดับชั้นเรียนที่แตกต่างกันออกไป ครูหลายๆ ท่านได้นำอุปกรณ์การสอน ของเล่น รวมถึงขนมติดไม้ติดมือมาด้วย ทำให้ราได้รับความสนใจจากเด็กๆ ไม่น้อย เด็กๆ ที่นี่ส่วนใหญ่ค่อนข้างจะขี้อาย ถึงแม้เด็กๆ จะพูดไม่เยอะ แต่มีสิ่งหนึ่งที่เด็กๆ แสดงให้พวกเราเห็นบนใบหน้าถึงความสุข นั่นก็คือ รอยยิ้ม

วันที่สามนั้น เป็นวันแห่งการสร้าง วันนี้ครูบ้านนอกได้ช่วยกันสร้างสนามเด็กเล่นครูอาสา เด็กๆ ต่างเฝ้ามองพวกเราขุดดิน  ทาสี แบกไม้ ตั้งเสาทำชิงช้า สีหน้าของเด็กๆ ทุกคนต่างแสดงถึงอาการดีใจและเฝ้ารอให้สนามเด็กเล่นแห่งนี้เสร็จไวๆ ถึงแม้จะไม่มีเครื่องเล่นหรูๆ ราคาแพงๆ แต่ฉันเชื่อว่าสนามเด็กเล่นที่มีชิงช้าซึ่งสลักคำว่า ครูบ้านนอก 170 จะเป็นสนามเด็กเล่นที่อบอวลไปด้วยกลิ่นไอแห่งความสุขของเด็กๆ ที่นี่ไปอีกนาน

นอกจากการสอนหนังสือและการสร้างสนามเด็กเล่นนั้น ครูบ้านนอกยังได้ร่วมเลี้ยงอาหารกลางวันและไอศกรีมให้เด็กๆ ที่นี่ทั้งสองวัน พวกเขาคงดีใจไม่น้อยที่ได้ท่านไอศกรีมสีสันสดใส บางคนก็วนต่อแถวทาน 2-3 รอบ ฉันไม่รู้จริงๆ ว่าครั้งสุดท้ายที่เด็กๆ ได้มีโอกาสทานไอศกรีมแบบนี้ มันคือเมื่อไหร่กันนะ หรือนี่อาจจะเป็นครั้งแรกของเด็กๆ หลายคนก็ได้ พอตกค่ำ ก็มีกิจกรรมรอบกองไฟ มีการแสดงจากทั้งเด็กๆ และครูบ้านนอก มีกิจกรรมรำวงร่วมกันของเด็กๆ ชาวบ้าน และครูบ้านนอก สนามหญ้าพร้อมกองไฟ ใต้แผ่นฟ้าที่มีดาวเต็มฟ้า เคล้าคลอด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของพวกเรา มันเป็นภาพที่น่าจดจดจริงๆ ฉันอดเสียดายแทนอีกหลายๆ คนไม่ได้ ที่ไม่มีโอกาสได้เห็นภาพแห่งความสุขเช่นนี้

ครูอาสางานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เป็นประโยคที่ใช้ได้ดีทุกครั้งสำหรับวันแห่งการจากลา จริงอยู่ที่เราทุกคนอาจจะได้อยู่ร่วมกันเพียงแค่สี่วัน แต่มันกลับเป็นสี่วันที่เปี่ยมไปด้วยความสุขและรอยยิ้ม มันเป็นสี่วันแห่งความทรงจำที่จะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของทุกๆ คน ถึงแม้การมีคำขึ้นต้นว่า ครู นำหน้าชื่อเพียงแค่สี่วัน หรือการลงพื้นที่ในระยะเวลาสั้นๆ อาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชุมชนหรือระดับการศึกษาให้ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่อย่างน้อยเด็กๆ และชาวบ้านที่นี่ ก็ได้รับรู้ว่า พวกเขาไม่ได้ถูกหลงลืมไปจากสังคมนี้

การได้ไปเข้าค่ายอาสาในแต่ละครั้งของฉัน ถึงแม้พื้นที่ วัฒนธรรม และวิถีชุมชนจะแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ฉันได้เรียนรู้ว่าอีกหลายๆ พื้นที่ในประเทศไทยยังต้องการการเหลียวแลจากสังคม ชาวบ้านและเด็กๆ จำนวนมากยังเป็นบุคคลไร้สัญชาติ เป็นบุคคลชายขอบ ที่ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสียงเท่าคนไทย ทั้งๆ ที่พวกเขาก็ยืนอยู่บนแผ่นดินไทยเช่นเดียวกับเรา แต่มีคำถามหนึ่งที่มักจะผุดขึ้นในหัวของฉันหลังจบค่ายในแต่ละครั้งเสมอ…

“ใครจะไปรู้ จริงๆ แล้วพวกเขาอาจจะมีความสุขกว่าพวกที่อ้างตัวว่าเป็นคนเมืองอย่างเราก็ได้”
ครูอาสา ครูอาสา

ระยะเวลาสองอาทิตย์กว่าที่ฉันได้เข้ามาอยู่กับมูลนิธิกระจกเงา ถึงแม้จะเป็นเพียงเวลาสั้นๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้คือ การทำงานอาสาสมัครนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หลายคนอาจวาดฝันว่าจะได้เจอลูกผู้ใหญ่บ้านรูปหล่อ หรือสาวชาวเขาแสนสวยบนยอดดอยเหมือนละครไทยหลังข่าว หรือบางคนอาจจะคิดว่า งานอาสาเป็นงานสบายๆ แต่ในความเป็นจริงนั้น งานอาสาคืองานของบุคคลที่ต้องเสียสละเป็นอย่างมาก ต้องทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจเพื่อผู้อื่น แต่ฉันเชื่อว่าอาสาสมัครทุกท่านที่นี่อิ่มใจและมีความสุขในสิ่งที่พวกเขาทำ สำหรับฉันนั้น ถึงจะมีเวลาไม่มากนัก แต่ฉันก็อิ่มใจที่อย่างน้อยก็ได้เป็นประกายไฟเล็กๆ ในแสงเทียนที่คอยส่องสว่างให้แก่สังคม

” สุขอยู่ที่ใด สุขอยู่ที่ใจ……”ครูอาสา

ภาพ/เรื่อง :  Rujiporn Phetphoonsap (Fang)

|Secretary to MD / Business Development | Sri panwa Phuket

Leave a Reply

scroll to top