การเดินทางเพื่อ….รอยยิ้ม

 

ตอนที่1  การเดินทางเพื่อ….รอยยิ้ม

 

                ในชีวิตของคนเราแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างในการดำเนินชีวิตเพราะคนทุกคนต่างต้องทำทุกอย่างเพื่อให้เราได้รับความสุขแต่ความสุขของคนในสังคมใหญ่ย่อมเป็นความสุขที่ต้องแลกด้วยความเหน็ดเหนื่อย  ความวุ่นวายและการแข่งขันเพื่อให้เราได้เป็นผู้ที่ได้รับความสุขตามที่ชีวิตเราต้องการแต่หากเรามองอีกมุมหนึ่งของสังคมที่เราไม่เคยได้สัมผัสซึ่งเป็นสังคมที่อาศัยอยู่แบบพึ่งพาธรรมชาติและมีความสุขโดยที่ไม่ต้องแข่งขันไม่จำเป็นต้องต่อสู้เพื่อแสวงหาความสุขในค่านิยมแต่เป็นเพียงความสุขที่เกิดจากความรักความผูกพันของกันและกันในหมู่บ้าน

 ในครั้งหนึ่งของชีวิตที่เราหลบพ้นจากความวุ่นวายสู่ความสงบสุข  การใช้ชีวิตที่ไม่ต้องเร่งรีบเพื่อแข่งกับเวลาแต่เป็นการเดินทางเพื่อหาความสุขเพื่อสร้างความสุขให้กับคนอื่นเป็นการพักร่างกายที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานปรับเปลี่ยนมาเป็นความสุขที่ได้มอบความรักและสิ่งดีๆต่อคนในสังคมแม้การเดินทางเพื่อตามหาความสุขในครั้งนี้จะเป็นการเดินทางอันแสนไกลถึงจังหวัดเชียงรายแต่หากเป็นการเดินทางที่สามารถทำให้เราลืมความวุ่นวายที่ต้องพบเจอในแต่ละวันมาเป็นการมอบความหวังให้กับเด็กที่รอคอยการมาเยือนของผู้ที่พร้อมจะมอบความทรงจำดีๆให้กับพวกเขา  โครงการครูบ้านนอกรุ่น 141  เป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับคุณครูและเด็กในหมู่บ้านสองแควพัฒนาเพราะการเดินทางในครั้งนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ทุกคนพร้อมจะแบ่งปันทั้งความสุขและรอยยิ้มซึ่งกันและกัน  ครั้งแรกของครูบ้านนอกบางคนกับการมาเยือนจังหวัดเชียงรายทำให้เราได้เห็นถึงรอยยิ้มและความสุขแม้การเดินทางจะเป็นระยะทางที่ไกลแสนไกลแต่ครูบ้านนอกทุกคนต่างเดินทางมาด้วยจิตอาสาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก   ใจที่พร้อมจะแบ่งปันความรู้สึกดีๆต่อกัน

                “การเดินทางครั้งนี้ไม่ได้ต้องการอะไร  นอกจากจะได้เห็นรอยยิ้มกว้างๆของเด็กกลับไป” นี่เป็นคำพูดหนึ่งของครูบ้านนอกคนหนึ่งก่อนที่จะได้เข้าร่วมโครงการซึ่งคำพูดนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่ต้องการไม่ได้เป็นเงินทองของมีค่าแต่เป็นเพียงคุณค่าทางจิตใจซึ่งเป็นรอยยิ้มที่หวังจะเป็นสิ่งตอบแทนในการเข้าร่วมโครงการครูบ้านนอกรุ่น 141 ในครั้งนี้

     


 


 

ตอนที่2  เดินทางไกลเพื่อ….ความสุข

                การเดินทางเพื่อตามหาความสุขซึ่งเส้นทางเป็นการเดินป่าอันแสนยาวไกลของคนในสังคมใหญ่และเช่นเดียวกันกับความรู้สึกของครูบ้านนอกกับการเดินทางข้ามภูเขาลูกแล้วลูกเล่าทั้งยังต้องเดินผ่าดงไม้ไผ่   ในการเดินทางของครูบ้านนอกเป็นการเดินทางไกลครั้งหนึ่งในชีวิต  การเดินทางขึ้นดอยเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางสู่  หมู่บ้านสองแควพัฒนา  เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะรู้จักและพบหน้ากันเพียงไม่กี่นาที    แต่ด้วยใจที่มีจิตอาสาเหมือนกันทุกคนต่างช่วยเหลือและเข้าใจถึงความเหน็ดเหนื่อยซึ่งกันและกัน  การเดินทางที่ต้องใช้ระยะเวลา 4 ชั่วโมงเป็นเวลาที่ทำให้ทุกคนผูกพันกัน  ช่วยเหลือกันเพื่อนำพากลุ่มครูบ้านนอกให้มาถึงจุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพ

                ครั้งแรกกับความแปลกใหม่ที่สายตาของคนเมืองใหญ่ไม่คุ้นเคยกับบ้านยกพื้นสูงสร้างด้วยไม้ไผ่ที่มีความแตกต่างกับสังคมที่เราคุ้นเคยและก็เป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่ครูบ้านนอกได้รับคือการต้องเข้าอาศัยอยู่ในบ้านของชาวบ้านโดยการเข้าอยู่นั้นเด็กนักเรียนในหมู่บ้านต้องเป็นคนเลือกให้ครูบ้านนอกเข้าพักซึ่งเป็นครั้งแรกเช่นกันที่ครูบ้านนอกได้สัมผัสกับนักเรียนและได้เห็นแววตาของเด็กสู่ความหวัง   ความสุขและรอยยิ้มกับการมาเยือนของครูบ้านนอก  ความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางของครูบ้านนอกปรับเปลี่ยนมาเป็นรอยยิ้มและแววตาที่สะท้อนให้เห็นถึงความสุขที่ครูบ้านนอกได้สัมผัสจากความอบอุ่นของคนในหมู่บ้านที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี  การเข้าอยู่ในบ้านของชาวบ้านเผ่าอาข่าเป็นประสบการณ์แรกของการได้เป็นครูอาสาเต็มตัวเพราะการเข้าอยู่ในหมู่บ้านเด็กๆทุกคน  คนในหมู่บ้านรวมถึงคุณครูและเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เข้าร่วมโครงการต้องใช้คำนำหน้าว่า “ครู”  ซึ่งคำๆนี้เป็นสิ่งที่เด็กๆในหมู่บ้านต่างเฝ้ารอ  เพราะครูสำหรับพวกเขาคือคนที่จะให้ความรู้และความสุข  มอบรอยยิ้มทั้งยังเป็นคนที่มาสร้างสีสันให้กับหมู่บ้านสองแควพัฒนา  การเข้าอาศัยอยู่ในบ้านของเด็กนักเรียนแต่ละหลังจะมีครูบ้านนอกจำนวน 2 คนต่อหนึ่งหลังและสิ่งที่ต้องทำอย่างแรกคือการทำอาหารซึ่งสิ่งที่เห็นแล้วแปลกตากับครั้งแรกที่ได้เข้าครัวของชนเผ่าอาข่าเป็นอุปกรณ์เครื่องครัวที่แปลกตามากสำหรับครูบ้านนอกรวมทั้งยังเป็นการพิสูจน์ให้เราได้เรียนรู้การก่อไฟจากเด็กๆในหมู่บ้านซึ่งเป็นการแสดงให้เราเห็นว่าพวกเขาสามารถอยู่ในสังคมโดยการพึ่งพาตนเองได้จากการเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตการถ่ายทอดความรู้จากพ่อแม่และจากสังคมที่พวกเขาอยู่

 

แสงสว่างที่มาจากบ้านของชาวบ้านซึ่งเป็นเป็นไฟฟ้าที่เกิดจากพลังงานน้ำจากการร่วมมือของสมาคมอาข่าจังหวัดเชียงรายเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าคนในหมู่บ้านสามารถอยู่ได้บนพื้นฐานของความพอเพียง  ความพอดีซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้รู้ว่าการดำเนินชีวิตในหมู่บ้านสองแควพัฒนาแม้แสงสว่างที่มีอยู่อย่างจำกัดซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำใจและรอยยิ้มที่เด็กๆและคนในหมู่บ้านต่างมอบให้อย่างไม่จำกัดเป็นเครื่องบ่งบอกให้รู้ว่าความสุขของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับค่านิยมแต่เป็นความสุขที่ขึ้นอยู่กับการมอบสิ่งดีๆให้แก่กันเท่านั้นเอง

 

  

 

 

 

 

ตอนที่ 3 ครูบ้านนอก….ขออาสา

 

                เริ่มต้นวันใหม่ของการได้เรียนรู้ประสบการณ์ในหมู่บ้านสองแควพัฒนากับการจัดกิจกรรมครูบ้านนอกรุ่น 141 เป็นเช้าที่เริ่มต้นด้วยการจัดฐานกิจกรรมต่างๆซึ่งทั้งหมดมี  4 ฐาน  แต่ละฐานจะจัดแหล่งความรู้ที่มีความแตกต่างกัน  เช้านี้เป็นเช้าที่เด็กทุกๆคนต่างเตรียมตัวอย่างพร้อมเพรียง  ดูจากเสื้อผ้าที่เด็กใส่สะท้อนให้เห็นว่าเด็กรอคอยวันที่ครูบ้านนอกมาถึงซึ่งเด็กๆต่างเลือกเสื้อผ้าที่คิดว่าใหม่ที่สุดมาใส่เพื่อต้อนรับครูบ้านนอก  และพร้อมที่จะทำกิจกรรมที่จะจัดขึ้น

 

                จากใบหน้าของเด็กๆและครูบ้านนอกซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มที่แสดงให้เห็นถึงความสุขของทุกคนต่างดีใจที่ได้มีโอกาสจัดกิจกรรมร่วมกัน  ฐานเรียนรู้ในแต่ละฐานเป็นการจัดกิจกรรมที่เต็มไปด้วยความสนุกเพื่อให้เด็กได้รับความรู้และทักษะมากที่สุด  ทักษะการเรียนรู้ในแต่ละฐานเป็นสิ่งที่สะท้อนให้ทั้งครูและนักเรียนได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน  เพราะการเข้ามาสอนเด็กในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ที่ครูต้องสอนเด็กแต่กลับเป็นการเรียนรู้ที่เด็กสอนให้ครูรู้ว่าพวกเขาสามารถเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆที่พร้อมจะกลายเป็นภาพใหญ่เพื่อเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมรับรู้ว่าพวกเขาจะเป็นภาพๆหนึ่งในสังคมจากจุดเล็กๆเพื่อสร้างคุณค่าและประโยชน์ให้แก่สังคม  การได้เป็นครูบ้านนอกเป็นสิ่งที่สอนประสบการณ์การเป็นครูอาจจะเป็นความฝันของครูบ้านนอกหลายๆคนที่ฝันอยากเป็นครูและเมื่อวันนี้เราสามารถทำตามความฝันนั้นทำให้เราได้รู้ว่าการทำทุกอย่างที่มาจากภายในจิตใจนั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนคุณค่า  แม้หน้าที่การงานที่พวกเขาจะมาจากหลากหลายอาชีพแต่สิ่งหนึ่งที่ครูบ้านนอกทำได้ดีที่สุดคือการเป็นครูจากจิตใจที่มาจากความเป็นครูอย่างแท้จริง  ครูผู้ซึ่งอยากมอบความรัก  ความรู้ให้กับเด็กอีกทั้งครูผู้ซึ่งมอบความสุขและรอยยิ้มที่เด็กๆเลือกจะจดจำไปตลอดชีวิต  การเป็นครูบ้านนอกแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆกับการได้ทำหน้าที่ครูหากแต่มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกับการได้ทำหน้าที่เรือจ้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคำว่าครู 

 

                หากครูบ้านนอกเป็นเพียงแค่คำๆหนึ่งซึ่งแม้จะเป็นพียงการทำหน้าที่สอนเด็กในหมู่บ้านๆหนึ่งแต่เป็นหน้าที่ที่ครูทุกคนต่างทำด้วยจิตอาสา  ทำด้วยความรักและไม่ได้หวังผลตอบแทนเพียงแต่ต้องการผลตอบแทนที่เป็นคุณค่าทางจิตใจที่หวังเพียงแค่ผู้รับมีความสุขและเราก็มีความสุขที่ได้มอบให้กับคนเหล่านั้น

  

ตอนที่ 4   ครูบ้านนอก 141

 

                การเดินทางที่แสนยาวไกล   การเดินเท้าที่ต้องใช้ระยะเวลา  4  ชั่วโมงในการเดินข้ามภูเขาและการอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน  2 คืนกับ 3 วัน  เป็นการเดินทางที่มีคุณค่าที่สุดซึ่งหากพูดถึงความทรงจำที่ดีที่สุดในชีวิตประสบการณ์ครูบ้านนอกในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความทรงจำที่น่าจดจำของผู้เข้าร่วมโครงการครูบ้านนอกรุ่น 141 ทุกคน  การได้ศึกษาความเป็นอยู่ของชาวบ้านชนเผ่าอาข่า  การได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันของคณะครูบ้านนอก  การได้มอบความสุข  รอยยิ้ม  ความรู้ให้กับเด็กสิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่สะท้อนให้ครูทุกคนต่างมีความสุขและคุ้มค่ากับการเดินทางในครั้งนี้

                    ความทรงจำครั้งหนึ่งที่เราตั้งใจเดินทางมาด้วยใจอาสาเพื่อหวังจะได้มอบสิ่งดีๆให้แก่คนในสังคมแม้จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆแต่นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้รับประสบการณ์ต่างๆมากมาย  ยิ่งไปกว่านั้นยังได้รับมิตรภาพระหว่างการเดินทางที่แสนพิเศษการเดินทางที่มีทั้งเพื่อน  พี่ และน้องแต่ทุกคนต่างอยู่ร่วมกัน  แบ่งปันความรัก  ความห่วงใยช่วยเหลือกัน  ซึ่งกิจกรรมสุดท้ายที่เราได้ทำร่วมกันคือการปลูกป่าเพื่อสร้างความชุ่มชื่นให้กับธรรมชาติการเดินป่าในครั้งนี้นับว่าเป็นการเดินทางไกลครั้งที่ 2 ที่ทุกคนต้องเดินเท้า    และนั้นก็เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าการที่เรามาอยู่ร่วมกันได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  จนทำให้เกิดความรักความรู้สึกดีๆต่อกันและความรู้สึกเหล่านี้ก็ก่อให้เกิดความผูกพันที่ทุกคนต่างจดจำ    ความรัก  ความผูกพัน  ความสุขและรอยยิ้มที่เกิดจากการเข้าร่วมโครงการครูบ้านนอกรุ่น 141 ในครั้งนี้ได้สอนให้เราเรียนรู้ถึงมิตรภาพที่เกิดขึ้นจากคนที่มีจิตอาสาเป็นมิตรภาพที่สร้างกำแพงที่มั่นคงให้เรารับรู้ได้ถึงความเป็นปึกแผ่นได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้  อีกทั้งยังได้เรียนรู้ถึงความหวังของเด็กๆที่สะท้อนออกมาในรูปแบบของความร่วมมือในการทำกิจกรรม  การต้อนรับที่ทำออกมาด้วยความจริงใจซึ่งนี้เป็นสิ่งที่หาได้ยากในสังคมใหญ่    ความรู้สึกที่มาจากความใส่ใจและจริงใจย่อมรับรู้ได้ด้วยการสัมผัสด้วยใจซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ครูบ้านนอกทุกคนสัมผัสได้

                    ในวันสุดท้ายของการจัดกิจกรรมครูบ้านนอกแม้โครงการจะต้องสิ้นสุดลงแต่ยังคงมีอีกสิ่งหนึ่งที่ยังคอยเป็นบทเรียนให้เราจดจำไม่มีวันลืมนั้นคือ   ประสบการณ์เพราะประสบการณ์ในครั้งนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่าในสังคมยังคงมีอีกมุมหนึ่งที่ยังทำให้เรามีความสุขโดยไม่จำเป็นต้องแลกกับเงินทอง  เป็นมุมๆหนึ่งที่เราได้รับรู้ความจริงใจซึ่งไม่จำเป็นต้องแลกด้วยการฝืนกระทำแต่เป็นทุกสิ่งที่มาจากจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความหวังดี  ความสดใสที่พร้อมจะมอบให้เราในทุกครั้งของการมาเยือน  เช่นเดียวกันกับความรู้สึกของครูบ้านนอกรุ่น  141  ทุกคนที่พร้อมจะมาเยือนหมู่บ้านสองแควพัฒนาเพื่อมอบความสุข  หากชีวิตของเรามีความสุขแค่เพียงได้เป็นผู้ให้ซึ่งการที่เราได้เห็นเพียงแค่รอยยิ้มกว้างๆของเด็กๆทุกคนก็ทำให้เรามีความสุขแล้ว                                                                                                                                              

  

                                                                                                                  By  นักศึกษาฝึกงาน

                                                                                                                ปัทมาพร  ชูกิจ  (ทราย)

Leave a Reply

scroll to top