อุบัติทวิการณ์ชีวิตครูบ้านนอก

หากมองเวลาย้อนกลับไปถึง พ.ศ. 2542 (ปัจจุบัน พ.ศ. 2559) ผมพบว่า ชีวิตถูกแบ่งออกเป็นช่วง คือ ชีวิตนักศึกษาที่ถูกบ่มเพาะความเป็นนักศึกษาให้เป็นผู้มี “ภูมิรู้ ภูมิธรรม ภูมิปัญญา” แต่ยังขาดศิลปะในการดำรงชีวิต และชีวิตคนทำงานจะเป็นเวลาแห่งการสร้าง “ความดี ความงาม และความจริง” แต่ยังขาดบางสิ่งบางอย่างที่จะต้องเติมเต็มให้กับชีวิต สิ่งเหล่านั้นคืออะไร?  

ครูเอก

กาลครั้งหนึ่งชีวิตครูบ้านนอก ได้เริ่มขึ้นจากชีวิตนักศึกษาปริญญาตรีที่มีความฝันการเป็น “ครู” (ครูที่อุทิศตนสั่งสอนความรู้คู่คุณธรรมให้กับคนที่ด้อยโอกาสที่สุด) และอย่างน้อยที่สุดในชีวิตขอให้ได้มีโอกาสเป็นครูสักครั้งหนึ่ง แม้อาจเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม ในที่สุดความฝันก็กลายเป็นความจริงในการร่วมปฏิรูปการศึกษาแนวระนาบกับกลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา ด้วยเป้าหมาย คือ ต้องการนำความรู้ที่ได้ศึกษาและประสบการณ์ชีวิตที่ตัวเองได้สะสมที่มีคุณค่ามอบให้แก่เด็กด้อยโอกาสและนำไปใช้กับชุมชนชาวเขาที่ผมจะไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยในช่วงเวลาสั้นๆ

ปลายเดือนธันวาคม 2542 การเดินทางของครูบ้านนอกก็เริ่มขึ้น ครูเอกร่วมเดินทางกับครูกรและครูคล จากจังหวัดขอนแก่นสู่จังหวัดเชียงราย ใช้เวลาเดินทางโดยรถประจำทางร่วม 15 ชั่วโมง ระหว่างทางผ่านป่าที่รกทึบ ผ่านเหวลึก และหน้าผาน่าหวาดเสียวบนภูเขาที่สูงชั้น ผ่านหมู่บ้านชนบทในหลายจังหวัดของภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือทำให้เกิดมโนภาพอยากเห็นเด็กดอยในหมู่บ้านชนบทที่เราจะไปอยู่ด้วยโดยเร็ว ในที่สุดพวกเราก็เดินทางมาถึง บขส.จังหวัดเชียงราย และเหมารถสองแถวต่อไปที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา

ณ บริเวณใกล้ทางเข้าศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา พวกเราได้พบกับกลุ่มเด็กดอย 4 คน หน้าตามอมแมมใส่เสื้อผ้าที่เปื้อนฝุ่น (เปื้อนดิน) เด็กๆ จะนำทางพวกเราไปที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา ที่ร้านค้าของชำหมู่บ้านได้พบกับพี่นัด (เจ้าหน้าที่ศูนย์) และเมื่อเดินเข้าไปอีกหน่อยพบกับพี่หมู (เจ้าหน้าที่ศูนย์อีกคน) ยืนต้อนรับรออยู่ที่ทางเข้าศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกระจกเงาและได้อธิบายสิ่งต่างๆที่พวกเราอยากรู้และควรรู้ในหมู่บ้านแห่งนี้ รวมทั้งแนะนำสถานที่ต่างๆ ในบริเวณศูนย์ซึ่งถือได้ว่าเป็นความประทับใจสิ่งแรกที่ได้พบ

เมื่อเวลาเช้าได้ผ่านไปพวกเราก็ได้พบกับครูบ้านนอกที่มาเพิ่มเติมอีก 6 คน ได้แก่ ครูวัฒน์ ครูตั้ว ครูเกด ครูดี๋ ครูจิว และครูซัง ช่วงเย็นเวลาประมาณ 16.00 น. พี่หมู กำหนดให้ครูอาสาไปหมู่บ้านอาโย๊ะระยะทาง 7 กิโลเมตร เพื่อร่วมกิจกรรมกับชาวเขาในหมู่บ้าน ทั้งนี้เดินทางไปพร้อมกับเด็กนักเรียน (เด็กดอย) ทำความคุ้ยเคยกันระหว่างทางมีทิวทัศน์ที่สวยงามมาก ผ่านทุ่งนา ผ่านป่า และภูเขาสลับซับซ้อน (อาจเรียกได้ว่าเป็น 7 กิโลแม้ว เพราะไกลมาก) แม้จะเหนื่อยก็ถือว่าคุ้มค่าเมื่อได้มาถึงหมู่บ้านอาโย๊ะ ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างดีจากผู้นำชุมชนชาวเขา ช่วงกลางคืนพวกเราได้ร่วมกิจกรรมกับชาวเขา และร่วมร้องเพลงกับเด็กๆ รอบกองไฟ จากนั้นได้เริ่มพิธีกินวอ (เพื่อสะเดาะเคราะห์ผู้ชาย) และพิธีในลานสาวกอด ซึ่งการร่วมกิจกรรมคืนนี้เป็นความประทับใจสิ่งที่สอง

รุ่งอรุ่นในวันต่อมา พวกเราได้เดินทางกลับมาที่ศูนย์ และพบกับครูอาสาที่มาเพิ่มเติม อีก 3 คน คือ ครูวิทย์ ครูโขม และครูฉันเล็ก (รวมครูอาสาเป็น 12 คน) ทุกเย็นพวกเราชาวครูอาสาและเจ้าหน้าที่ของศูนย์จะมาพบปะประชุมกันในบ้านไม้อบอุ่นโดยมีพี่ฉันริ่งเป็นผู้นำการพูดคุย  ที่ประชุมครูบ้านนอก ได้สรุปโครงการหลักที่พวกเราจะดำเนินการโครงการครูอาสารุ่นที่ 2 คือ “การสำรวจข้อมูลบ้านหมู่ชาวอาข่าบริเวณศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา” เป็นงานที่พวกเราตั้งใจทำ เริ่มตั้งแต่การวางแผนแบ่งกลุ่มเพื่อสำรวจข้อมูล การทำแผนที่และข้อมูลสนเทศที่น่าสนใจ อนึ่งจากเวลาดำเนินการโครงการที่น้อยเกินไปพวกเราจึงหวังว่าครูอาสารุ่นที่ 3 จะช่วยสานต่อโครงการนี้ เพื่อประโยชน์แก่เด็กดอยและชาวเขาเผ่าอาข่าทุกคน โครงการนี้จึงเป็นความประทับใจสิ่งที่สามในเรื่องความสามัคคีร่วมมือกันทำงานของครูอาสาทุกท่าน

3ค่ำคืนก่อนวันคริสต์มาส พวกเราครูอาสาได้มีส่วนรวมในการจัดกิจกรรมคริสต์มาสของชาวอาข่า เช่น การร้องเพลงและการเต้นร่วมกันกับชาวอาข่า ซึ่งสนุกสนานมาก และในคืนวันคริสต์มาสนั้น ชาวอาข่าทุกคนได้มาร่วมร้องเพลงให้กับครูอาสาและเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกระจกเงาซึ่งเป็นความประทับในสิ่งที่สี่ที่สัมผัสได้

วันต่อมา พวกเราได้สวมบทบาทการเป็นครู คือ การสอนและจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาให้กับเด็กๆ ในโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษา (เด็กนักเรียนที่นี้มีสภาพความแตกต่างกับเด็กๆ ในหมู่บ้านชาวอาข่ามากทั้งในเรื่องการแต่งกายและโอกาสที่ได้รับกิจกรรม) กิจกรรมการแข่งขันกีฬาที่พวกเราจัดให้จะถูกแบ่งตามกลุ่มสร้างสรรค์ ผมอยู่ในกลุ่มหิงห้อย ประกอบด้วย  ครูเอก ครูกร ครูคล ครูดี๋ และครูวัฒน์ สิ่งที่ประทับใจสิ่งที่ห้า คือ การมอบความสุนกสนานให้เด็กๆ ในกิจกรรมกีฬาที่พวกเราได้จัดขึ้นมา สรุปผลกิจกรรมกีฬาพบว่า กลุ่มหิ่งห้อย ชนะเลิศที่ 1 ในกีฬาอุ้มลูกหมูและกีฬาวิ่งสามขา

ก่อนรุ่งเช้าที่พวกเราจะจากกัน  คือ ค่ำคืนที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยดวงดาวระยิบระยับ ครูอาสาและเจ้าหน้าที่ศูนย์ทุกท่านได้มาร่วมนั่งรอบกองไฟที่อบอุ่นร้องเพลงและระบายความในใจซึ่งกันและกัน “ผมรู้สึกประทับใจมากในการมาครั้งนี้ได้พบกับครูอาสาที่มีอุดมการณ์เดียวกัน การได้ถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ให้กับเด็กๆ การได้ร่วมหาข้อมูลและจัดการข้อมูลของหมู่บ้านชาวอาข่าเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ การได้เที่ยวและเห็นทิวทัศน์ต่างๆ ของ จังหวัดเชียงรายในมุมมองซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน การได้ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นและธรรมชาติสุดท้ายได้รู้ว่าอย่างน้อยที่สุด ในสังคมเราก็ยังไม่แห้งแล้งจิตอาสา ยังมีกลุ่มครูอาสาที่ยังพร้อมจะร่วมมือกันในการพัฒนาชนบทไทยต่อไป หากมีโอกาสที่ดีอีกสักครั้งในชีวิต จะเข้าร่วมกิจกรรมนี้อีกครั้งและจะไม่มีวันลืมพี่ๆ ที่ศูนย์วัฒนธรรมกระจกเงาและครูอาสารุ่นที่ 2 อย่างแน่นอน” นั้นเป็นสิ่งที่ครูเอกได้กล่าว

ปัจจุบันเวลาเดินเร็วเหมือนในนิทาน 18 ปีผ่านไป ครูเอกจากชีวิตนักศึกษาเปลี่ยนเป็นชีวิตคนทำงานที่ได้สั่งสมคุณวุฒิการศึกษาและคุณวุฒิวิชาชีพมาพอควร แต่ยังรู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างขาดหายไป ต้องการที่จะเติมเต็มให้กับชีวิต และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการสร้างความดี ความงาม และความจริงให้กับชีวิต ผมได้คิดทบทวนอีกครั้งว่าบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายไปคืออะไร คำตอบนั้นคือ “กิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชนบท” เพราะจะทำให้เราได้เรียนรู้ทุกสิ่งอย่างและนำทุกสิ่งอย่างที่เรามีมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชนบทที่ด้อยโอกาส ท้ายสุดจะเป็นกิจกรรมที่ขัดเกลาจิตใจให้เป็น “คนที่สมบูรณ์”

อุบัติทวิการณ์ชีวิตครูบ้านนอก (พ.ศ. 2559) จึงได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง ด้วยเหตุผลการเข้าร่วมโครงการ คือ โครงการครูบ้านนอกของมูลนิธิกระจกเงา เป็นกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชนบทอย่างหนึ่งที่ผมเคยร่วมกิจกรรมเมื่อ 18 ปีที่แล้ว และผมยังได้ติดตามชื่นชมความเจริญงอกงามพัฒนาการของมูลนิธิกระจกเงามาตลอด นับตั้งแต่ปี 2541 ที่ยังเป็นกลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา ณ บ้านห้วยขม จังหวัดเชียงราย ปี 2542 เริ่มมีโครงการครูบ้านนอก ปี 2547 จัดตั้งเป็น “มูลนิธิกระจกเงา” ตามสโลแกน “สร้างคน สร้างนวัตกรรม สร้างการเปลี่ยนแปลง” ก่อเกิดโครงการที่เป็นประโยชน์มากมายต่อประเทศชาติ และที่สำคัญยิ่ง คือ หวังที่จะกลับมาเยี่ยมเยือนพี่ๆ เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา และเพื่อพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพี่น้องพ้องเพื่อนครูบ้านนอกหน้าทุกท่าน ทั้งที่กำลังอยู่ในช่วงชีวิตนักศึกษาและชีวิตคนทำงาน นอกจากนี้ หลังจากทราบข่าวกิจกรรมทางเวบไซต์ https://bannok.com/volunteers และได้แจ้งเพื่อนๆ ที่ทำงานให้ทราบข่าวกิจกรรม “โครงการครูบ้านนอกรุ่นพิเศษมหกรรมวันเด็ก 2559” ทุกท่านไม่สามารถมาได้สักคน แต่มีจิตอาสาบริจาคของขวัญกับหนังสือสำหรับเด็ก รวบรวมได้ 3 กล่องใหญ่ จึงจำเป็นต้องมาเป็นตัวแทนเพื่อนๆ เพื่อมามอบของขวัญให้แก่เด็กๆ ด้วย

รายละเอียดกิจกรรม “โครงการครูบ้านนอกรุ่นพิเศษมหกรรมวันเด็ก 2559” ครั้งนี้ ผมไม่ขอกล่าวในบทความนี้ เนื่องจากได้รับการติดต่อจากพี่ต้นซุง (เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา) ให้เขียนเรื่องราวครั้งแรกที่มาค่าย และเหตุผลที่กลับมาอีกครั้ง ดังนั้น จะมีเรื่องราวในอดีตของครูเอก รุ่นที่ 2 ที่ได้ร่ายยาว ส่วนเรื่องราวปัจจุบันขอกล่าวเพียงความประทับใจครั้งนี้ คือ ความประทับใจที่หนึ่งความเป็น “สกลครูบ้านนอก” แปลว่า ครูบ้านนอกสากลที่สามารถจัดกิจกรรมร่วมกับอาสาสมัครนานาชาติได้เป็นผลสำเร็จดี นับเป็นนวัตกรรมครูอาสาใหม่ที่เกิดขึ้น และความประทับใจที่สอง ความเป็น “สกลมูลนิธิกระจกเงา” แปลว่า มูลนิธิกระจกเงาที่เป็นสากลมีความเป็นนานาชาติ นับเป็นนวัตกรรมมูลนิธิใหม่ของประเทศไทยเช่นกัน

ผมมองว่า “มูลนิธิกระจกเงา เป็นส่วนเติมเต็มของการศึกษาในพื้นที่ด้อยโอกาสและให้กับจิตอาสาด้วย เพราะการศึกษา คือ ‘บวร’ แปลว่า ความเจริญรุ่งเรื่อง ตามคำโบราณเป็นการย่อจากคำว่า ‘บ้าน วัด โรงเรียน’ กล่าวคือ การพัฒนาหรือสร้างคนจะเริ่มต้นที่บ้าน วัด และโรงเรียน มูลนิธิกระจกเงาเปรียบเสมือนทั้ง ‘บ้านกระจกเงา วัดกระจกเงา โรงเรียนกระจกเงา’ ที่จะขจัดความไม่เสมอภาคในโอกาส บ่มเพาะคุณธรรม และสร้างคุณภาพของการศึกษาให้ทุกคน ทุกชาติ ทุกภาษา”

นั่นคือคำตอบของสิ่งที่ขาดหาย และเหตุผลทั้งหมด ว่าทำไมผมถึงกลับมาเป็น “ครูบ้านอก” อีกครั้ง

ครูเอก รุ่นที่ 2

ปัจจุบัน (2)

Leave a Reply

scroll to top