เรื่องเล่าคลุกน้ำตาล

      ชีวิตที่ไร้นาฬิกา และสัมผัสกับความสุขที่ไม่ได้แลกมาด้วยเงินตรา

 


 

หากค่าของความสุขถูกแปลงค่ามาเป็นหน่วยของเงินตรา

จะมีค่าประมาณเท่าไหร่กัน

จะมากหรือจะน้อยกว่าเงินตราทั้งหลายที่มีอยู่บนโลกนี้

แล้วคนที่จะได้ขึ้นแท่นผู้ที่มีความสุขที่สุดในโลก

จะใช่คนๆเดียวกันที่กำลังขึ้นแท่นคนที่รวยที่สุดในโลกตอนนี้หรือเปล่า?

 

หรือเพราะยุคสมัยนี้ๆใครๆก็ต่างชอบพากันใช้เงินซื้อความสุขกันซะหมด

ถึงขนาดยอมเสีย
สุขภาพ เวลา และครอบครัวเพื่อให้ได้เงินมา

แต่หญิงชราชาวลาหู่คนหนึ่งทำให้ชั้นได้เรียนรู้ว่า

แท้จริงแล้วสำหรับคนบางคน

แม้ไม่มีเงิน
ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุขได้ “

 


 

 

ในช่วงวันหยุดย๊าวๆในเทศกาลวันแม่ที่ผ่านมา

ครูอาสากลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งก็ได้เดินทางเข้าดอย

ดินแดนของชนเผ่าลาหู่
ที่เรียกตามกันว่า ผามูบ

ที่ๆไร้ซึ่งคลื่นโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต
ไร้ซึ่งความเจริญทางวัตถุ

เพื่อแสวงหาความเจริญทางวัฒนธรรม
และร่วมแบ่งปันองค์ความรู้

ให้กับเหล่าเด็กดอยตัวน้อยๆที่พากันมาคอยต้อนรับเมื่อพวกเราไปถึง

ภารกิจในครั้งนี้เราไม่ได้ไปเพื่อให้เพียงอย่างเดียว

เรายังไปเพื่อเป็นผู้รับอย่างเสมอภาคกันด้วย

ครั้งนี้เป็นครั้งที่3แล้วที่มีโอกาสได้ทำอะไรเช่นนี้ติดต่อกัน

ครูอาสาทั้งหลายที่
ต่างคนต่างมา ต่างที่ ต่างวัย ต่างภาษา ต่างอาชีพ

แต่มีความต้องการที่ตรงกัน
คือ อยากเห็นรอยยิ้มของเด็กๆ

และตาลก็รู้สึกพิเศษมากๆกับค่ายนี้เพราะ

มีครูอาสาหลายๆท่านที่มีความสนใจเฉพาะด้านในเรื่องเดียวกัน

เราคุยกันได้ในเรื่องของนพลักษ์
แลนมาร์ค บ้านดิน

เลยไปจนถึงเรื่องหมู่บ้านพลัม
ซึ่งปกติไม่รู้จะคุยเรื่องพวกนี้กับใครได้

มีหลายเรื่องที่ต้องอุทานออกมาว่า
“เฮ้ย จริงเหรอ” ออกมาเป็นระยะๆ

เพราะมันดัน
บังเอิญๆ จริงๆ

รู้สึกทึ่งมากมายเมื่อได้สนทนากับ
“แม่” หญิงชราชาวลาหู่

เจ้าของบ้านที่เราไปพัก

ถึงวิถีชีวิตอันงดงามของเธอ

ซึ่งเหมือนจะแตกต่างจากเราเหลือเกิน

เธอเป็นคนที่ไม่เคยดูนาฬิกา
ไม่ใช้นาฬิกา เธอไม่ได้ดำเนินชีวิตไปตามเข็มเส้นเข็มยาว

แต่เธอดำเนินชีวิตไปตามนาฬิกาชีวิตและความต้องการของเธอเอง

เธอตื่นเพราะร่างกายของเธอบอกให้ตื่น

เธอไม่เคยตื่นมาปิดนาฬิกาและหลับต่อเหมือนเรา

เธอเพียงแค่ตื่นไปทำนาเพื่อเก็บข้าวเอาไว้กิน

เธอไม่ต้องรีบกระเสือกกระสนทุกเช้าเพื่อไปเข้างานให้ทันเวลา

เธอไม่ต้องเสียเวลาแต่งหน้าทำผมเลือกชุดให้เข้ากันออกจากบ้าน

ไม่ต้องสนความดูดีหรือดูไม่ดีในสายตาใครๆ

แต่เธอช่างมีน้ำใจกับคนแปลกหน้าที่มีเยือนอย่างพวกเรานัก

เธอไม่ได้ร่ำรวยเงินทอง
แต่เธอก็ดูมีความสุขกับวิถีชีวิตเช่นนี้

 

เช้าวันแรกของภารกิจ

ตาลและครูอาสาอีกกว่าสิบชีวิตเริ่มต้นภารกิจการที่กระจกเงา
บางคนมาด้วยกัน บางคนฉายเดี่ยว

แต่ในที่สุดเราก็ได้รู้จักกันครั้งแรกที่ห้องประชุมของมูลนิธิกระจกเงา

พี่ต้นซุงเจ้าหน้าที่หลักในการประสานงานครุบ้านนอกในครั้งนี้

เริ่มให้ครูอาสาได้รู้จักกับมูลนิธิกระจกเงามากขึ้นว่าทำงานในด้านมิติสังคมอะไรบ้าง

ไม่ใช่ร้านจำหน่ายกระจกอย่างที่ใครๆพากันเข้าใจผิดแต่อย่างใด เอิ้กๆ

 

หลังจากประชุมแบ่งงานกันเสร็จสรรพ

ก็ขนของขึ้นกระบะแล้วก็เริ่มเดินทางเอาหน้าโต้ลมผมปลิวสรวยสวยเก๋กันอยู่หลังกระบะ

ให้แสงแดดมาระเคะระคายผิวหน้าและผิวกายเล่นๆ

จบงานนี้เราคงได้มีผิวสีแทนสเป็คฝรั่งกันเป็นแน่แท้

และพักทานอาหารเที่ยงกันที่หมู่บ้านกระเหรี่ยมรวมมิตร
มีช้างให้ดูด้วย

แต่เรากินไม่ได้เพราะมันตัวใหญ่เกินไปยัดเข้าปากครั้งเดียวคงไม่หมด

เลยพากันสั่งอะไรที่เล็กๆเช่นไก่ผัดเม็ดมะม่วงกินกัน
อย่างน้อยก็ได้กินงาก็ยังดีเหนาะ

 

ประมาณบ่ายแก่ๆเราก็มาถึงผามูบโดยสวัสดิภาพ

งานแรกที่ดำเนินการคือทาสี พ่นสี ไม้และสังกะสีที่ขนมา

เพื่อเตรียมอุปกรณ์ให้เด็กๆได้ทำป้ายรณรงค์พรุ่งนี้

แล้วก็มีการเลือกครูเข้าบ้าน

ลุ้นกันยิ่งกว่าผลประกาศรางวัลนางงาม
อยากเป็นคนที่เด็กๆบ้านใกล้ๆเลือกจริงๆ

มีการแก่งแย่งเล็กๆในหมู่เด็กๆเพื่อเลือกครูนุ่นสุดสวย

พวกเราที่เหลือเลยต้องหากลยุทธ์มาหลอกล่อกันสุดฤทธิ์
บอกสรรพคุณประจำตัว

ว่าเป็นหมอมั้งเหละ ร้องเพลงเป็นมั้งเหละ ถ่ายรูปสวยมั้งเหละ

สุดท้ายพวกเราก็ได้ที่ซุกหัวนอนเป็นบ้านของเด็กหญิงตัวน้อยชาวลาหู่

เป็นบ้านไม้ไผ่ที่ผู้เป็นแม่ปลูกให้ลูกชายแต่ลูกชายไม่อยู่

เลยให้เราเข้าไปอยู่ได้ชั่วคราว

และเนื่องจากช่วงนี้ฝนตกเยอะเกินพิกัด
ไม้ไผ่ปูพื้นตรงชานหน้าบ้านเปรียกจนเปราะ

เจอน้ำหนักมาตรฐานหญิงไทยอย่างเราๆเข้าไปเลยต้องหักอย่างแรง 

 

ขาร่วงลงไปติดอยู่ในรู ร้อนถึงแม้เจ้าของบ้านต้องมาช่วยงัดขึ้น
และซ่อมที่วางไม้ใหม่

เกรงใจแม่เจ้าบ้านจริงๆ สร้างวีรกรรมกันตั้งแต่คืนแรกที่ไปเยือน

 

 

วันที่สองคือวันทำงานอย่างจริงจัง

วันนี้พวกเราตื่นแต่เช้า ทำอาหารกันเอง
สวรรค์ยังเข้าข้างที่ส่งครูพี่แอนมาอยู่ร่วมบ้านไม่งั้นตาลก่ะครูน้องบุ๋มได้กอดคอกันตายเป็นแน่แท้
เอิ้กๆ

วันนี้เราทำงานกันอย่างจริงจังคุณครูทั้งหลาย พาเด็กไปปลูกต้นไม่เพราะ

วันนี้เป็นวันแม่ด้วย ชาวบ้านก็มาร่วมช่วยกันปลูก

ส่วนตาลได้หน้าที่เสมือนนางงาม คือทำหน้าที่รักเด็ก ดูแลเหล่าเด็กตัวน้อยที่ไม่สามารถไป

ปลูกต้นไม้ได้และวันนี้ตาลก็ได้พบความจริงแล้วว่า

กิจกรรมที่สามารถปราบเด็กได้ดีที่สุดคือ ศิลปะ ก็วาดรูประบายสี
แปะสติ๊กเกอร์

เล่านิทาน แจกขนมกันไป

และมีฐานการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมสำหรับเด็กๆทุกคนในช่วงบ่าย

เจอไอ้เด็กตัวป่วนที่ขอตั้งชื่อมันว่า ไอ้แสบ

แกล้งครูตั้งแต่แอบดูรูห้องน้ำ เอาทิชชู่เปรียกมายัดกระเป๋ากางเกง

และอีกหลากหลายวีรกรรมที่ไม่สามารถบรรยายหมดได้ในที่นี้

วันที่ 3

วันนี้มีกีฬาพื้นบ้านแข่งกันกลางสนามหญ้า สนุกสุดเหวี่ยง

(เพราะเล่นเกมส์ที่ต้องเหวี่ยงกันไปมา เอิก้ๆ)

แต่ตาลร่วมเล่นเกมส์เดียวรู้สึกเหมือนมีอะไรมาแทงที่อก
เจ็บแปลบๆเลยไปช่วยดูเด็กเล็กต่อ

ตอนกลางคืนเป็นช่วงที่น่าประทับใจมาก

เหล่าครูแต่งตัวด้วยชุดชนเผ่ากันสวยงาม
มาเต้นจะคึรอบกองไฟกับชาวบ้าน เป็นบรรยากาศที่ทำให้รู้สึกดีๆมาก

คงจะสนุกมากๆถ้ามาตอนหน้าหนาว เพราะที่นี่ไม่มีแสงสีมาก ทำให้มองเห็นดวงดาวชัดแจ๋วสวยมากๆเลยเหละ

พวกเราช่วยกันปล่อยโคมลอยสู่ท้องฟ้า และดีดอูคูเลเล่ร้องเพลง จะเก็บเธอไว้ในใจเสมอขอบคุณชาวบ้าน

ชั่งเป็นค่ำคืนที่แสนประทับใจและน่าจดจำมากจริงๆ

 

วันที่ 4

วันสุดท้ายที่มาพร้อมของห้วงอารมณ์การจากลา

เด็กๆร้องไห้กันใหญ่เมื่อคุณครูทั้งหลายต้องลาจาก
ทำเอาครูหลายคนน้ำตาไหลพรากตามกันไป

เด็กๆหลายคนเอาสร้อยข้อแขนที่บ้านตัวเองถักมามัดใส่แขนให้ครู

แม่เจ้าบ้านให้ลูกอะไรไม่รู้มากินกลางทาง

แต่รสชาติน่าจะประมาณว่าเป็น อัลมอลดอย (อันนี้ตั้งชื่อให้เองเพราะไม่รู้จัก)

หลังจากเสร็จภารกิจที่หมู่บ้าน

เหล่าครูบ้านนอกทั้งหลายก็แพ็คทีมกันไปเที่ยวก่อนกลับ

เป็นการทริปเที่ยวที่ทรหดอดทน ผ่านร้อนผ่านฝน (เพราะนั่งกันหลังกระบะ)

ไปชมงานศิลปะที่บ้านดำ ของอาจารย์ถวัลย์
ไปช๊อปปิ้งสินค้าอินเตอร์ที่แม่สาย

เดินเล่นชมธรรมชาติสวยๆที่สามเหลี่ยมทองคำ

แวะไปเจอร้านอาหารจีนแห่งหนึ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า
อย่าเพิ่งตัดสินใจเลือกอะไรจากหน้าตา

บางทีอาหารที่หน้าตาดีแต่รสชาติแย่มันก็มีอยู่จริง ฮ่าๆ

จบภาพสุดท้ายของภารกิจนี้ด้วยการโบกมือบายๆคุณครูทั้งหลาย

ขอบคุณที่เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำอันงดงาม

 

 
^______^

น้ำตาล

Leave a Reply

scroll to top