เด็กได้รู้ ผู้ใหญ่ได้เรียน

 

วันที่ครู 4 คน จาก 4 ที่ และตามติดมาอีก 1 หนุ่ม คือ ครูพี มารวมตัวกันเพื่อสัมผัสคำว่า “ครู” ในการเดินทางระยะทาง 6 กม.(กิโลแม้ว)เพื่อเข้าหมู่บ้าน ไม่ใช่ปัญหาสำหรับสาวๆครูบ้านนอกทั้งสี่นี้เท่าใดนัก (ครูพี มาหลังเลยไม่ได้เดิน) เพราะ ในวันที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝน มีลมเย็นๆพัดตลอดอย่างนี้ ทำให้การเดินเท้าขึ้นเขาเพื่อที่จะไปบ้านจะแลเป็นไปอย่างสบายๆ โชคดีที่ตลอดการเดินทางฝนไม่ตกเลย ไม่งั้นทางก็คงจะลื่นและคงจะลำบากน่าดู ด้วยอานิสงค์นี้ เราใช้เวลาเดินทางแค่ 2 ชม.ก็มาถึงบ้านจะแล

ซึ่ง ลักษณะเป็นหมู่บ้านที่มีเขาล้อมรอบ มีลำธารไหลผ่านหลังหมู่บ้าน บรรยากาศเงียบ สงบร่มรื่น ตอนไปถึงมีเด็กๆในหมู่บ้านวิ่งเล่นไปมา 3-4 คนและมีครูพีที่เดินทางมาช้าหน่อยมารอที่หมู่บ้านแล้ว ตามที่เจ้าหน้าที่บอกมาว่า บ้านนี้เป็นชนเผ่าลู่(แปลว่า พราน)ที่นับถือผี ที่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ มีหอเหย่ (แปลว่า วัด)เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ที่นี่มีพิพิธภัณฑ์ชนเผ่าด้วย มีห้องแสดงภาพ ห้องแสดงอุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้และห้องฉายวีดีทัศน์(ที่นี่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์) เราพักเหนื่อยกันสักพักแล้วแยกย้ายกันเข้าบ้านพักที่ทางมูลนิธิจัดให้ คือ ไปกินอยู่กับชาวบ้านเลย

หลัง จากอาบน้ำกินข้าวทำความรู้จักกับหงะปา(พ่อ) หงะเอ(แม่)แล้ว เราก็มาประชุมกับผู้นำหมู่บ้าน คณะกรรมการและชาวบ้าน โดยเป็นการฝากเนื้อฝากตัว ทำความรู้จัก พูดคุยเกี่ยวกับประวัติ ความเป็นมาของหมู่บ้าน พิธีกรรมต่าง ฯลฯ หลังจากนั้นก็เข้านอน เอาแรงไว้วันพรุ่งนี้วันนี้ตื่นขึ้นมาอากาศเย็นทีเดียวเพราะฝนตกพรำๆแต่เช้า มีโปรแกรมไปหาหน่อไม้บนเขากับเด็กๆ ทางที่จะไปนั้นเป็นทางขึ้นบ้านยะฟู ทางชันและลื่นมาก เมื่อเริ่มเดิน เรา ไปเจอลุงคนหนึ่ง(เจ้าหน้าที่มาบอกทีหลังว่า เป็นพ่ออาแม บ้านอาผ่าที่ครูบ้านนอกรุ่นโล้ชิงช้าไปพักด้วย)รถล้มระหว่างทางขึ้นนั้นพอดี ทางเจ้าหน้าที่ที่มากับเราได้เข้าไปช่วยและนำไปส่งข้างล่าง เพื่อที่จะทำการปฐมพยาบาลและส่งหมอต่อไป หลังจากเหตุการณ์เรียบร้อย เราก็ไปหาหน่อไม้ต่อ โดยเด็กเป็นคนสอนการหา การตัด ให้ครู โดยการทำให้ดู ผลที่ได้ เด็กได้มาหอบใหญ่ ครูได้มาคนละหน่อสองหน่อ(ถือว่ามือใหม่ทำได้แค่นี้ก็โอเคแล้ว) หลังจากนั้นก็กลับลงมา ตอนเย็นทำการสอนเด็กและชาวบ้านที่สนใจให้หัดเขียนชื่อ เพราะชาวบ้านที่นี่ส่วนมากไม่ได้เรียนหนังสือ หลังจากสอนเสร็จ

เรา ก็ให้การบ้านไปทำ เพราะด้วยเหตุนี้หรือเปล่า พอตอนสรุปกิจกรรม ทีมงานก็เข้ามาให้การบ้านเราสองข้อใหญ่ คือ ประวัติบ้านที่พักและเรื่องการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมกับการปรับตัวของชาวบ้าน นับว่าเป็นโจทย์ที่ยากพอควร

 

เช้านี้ต้องตื่นแต่เช้าหน่อย เพราะต้องทำกับข้าวห่อไปทานที่โรงเรียน เราต้องเดินตากฝนที่พรำๆหน่อย(ได้อารมณ์มากกกกก)เพื่อเดินทางไปสอนที่ ร.ร.ที่อยู่ห่างจากหมู่บ้าน 3 กม. พอไปถึงก็เข้าแถวพร้อมกับเด็กแล้วเข้าสอน วันนี้เราได้เข้าสอน ป.1-ป.3โดยครูเก็จ ครูเฟิง สอน ป.1 ครูยุ่ง ครูหญิง สอน ป.2 ครูพี สอน ป.3 นับว่าเป็นการสอนที่ลำบากมากๆ(ตามสายตาของทีมงาน)เพราะเด็กซนมากๆ แต่ทุกคนก็ทำได้ ลากผ่านช่วงเช้าไปได้ พอช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมรวม แสดงละคร โดยทางทีมงานได้เข้ามาช่วย(ไม่งั้นตายแน่ๆ) ป.1 เป็นการเต้น พิซซ่า(อธิบายไม่ถูกว่ายังไง แต่ตลกดีเด็กเต้นไม่พร้อมกันเลย ดูมั่วๆดี) ป.2นี่มีคลาสขึ้นมาหน่อย เล่นสโนไวท์ ส่วน ป.3 นี่ เรื่องกระต่ายกับเต่า ภาคพิสดาร อันนี้ฮาสุด หัวเราะจนน้ำตาเล็ด(โดยเฉพาะทีมงาน)

 

หลังเลิกเรียนเข้าแถวเคารพธงชาติ อำลาครูที่โรงเรียนห้วยแม่ซ้ายและเดินกลับบ้านพร้อม เด็ก ๆ ถึงบ้านปฏิบัติภารกิจเดิมคือทำอาหารและทานข้าวเย็น ก่อนเริ่มสันทนาการในอีกค่ำคืนหนึ่ง เช้าวันใหม่วันนี้ไม่ไปโรงเรียน แต่เราอยู่สอนกันที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน บ้านจะแล ที่เราพักอาศัย นั้นแหละ

ทั้งครูและเด็ก เด็กบางคนก็แวะขุด จิกุ่ง (จิ้งหรีด)เพื่อนำไปขายให้พ่อค้าที่เข้ามารับถึงหมู่บ้าน เขาว่ากันว่าเป็นเป็นสุดยอดเมนู ไม่รู้ว่าครูบ้านนอกท่านใด แอบเอาเมนูนี้กลับบ้านไปด้วยหรือเปล่า เด็ก ๆ และชาวบ้านบอกว่าไม่สงวน…. ยามเย็น ก็มีการทำพิธีโดยโตโบ เป็นผู้ผูกข้อมือให้ครูบ้านนอกเพื่อรับขวัญที่มาเยือนหมู่บ้านและอวยพรก่อน การเดินทางหลังจากนั้นก็เป็นการเต้นจะคึเว ของชาวบ้านลกเปลี่ยนให้ครูบ้านนอกได้ดู และเต้น อย่างสนุกสนาน   เมื่อแสงสีทองทาบทาท้องฟ้าเป็นสัญญาณบอกว่าต้องลาจากกัน ครูบ้านนอกหลายคนน้ำตาซึม เมื่อถึงการล่ำลาเดินทางจากหมู่บ้านสู่กระจกเงา เพื่อมาสรุปกิจกรรมก่อนเดินทางไปเที่ยววัดร่องขุ่น และส่งครูกลับมาตุภูมิ

 

ไม่ว่ามาจากที่ใด ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร แต่น้ำใจและรอยยิ้มที่มอบให้ เด็ก ๆ และชาวมันจะฝังตรึงในใจคุณและพวกเขาตราบนานเท่านาน

Leave a Reply

scroll to top