เรื่องเล่าครูบ้านนอกตอนที่9 “รอยยิ้ม จากแม่แฮง”

๙.รอยยิ้ม จาก แม่แฮง


“สิ่งมีค่า ที่ตีมูลค่า ราคา ไม่ได้”

เคยคิดไหมว่ามีสิ่งมีค่ายิ่งกว่า เงิน ทอง เคยคิดไหมว่ามีสิ่งหายากยิ่งกว่า เพชร นิล จินดา เคยคิดไหมว่าชีวิตจะมีความสุขจากสิ่งอื่นมากกว่า การเที่ยวเตร่ไปเรื่อยๆ การกินนอนอย่างสบายไปแต่ละวัน ……

ฉันก้าวเหยียบที่นี่ในวันแรก วันนั้นยังจำได้ดี สิ่งที่ทำให้ฉันยิ้ม  สิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกหายเหนื่อย สิ่งที่ทำให้ฉันต้องหลงใหลราวกับถูกมนต์สะกด ณ หมู่บ้านแห่งนี้ คือ รอยยิ้มแรก จากคุณยายท่านหนึ่ง ที่เดินสวนทางกันตรงทางขึ้นหมู่บ้าน

การที่ฉันได้ใช้ชีวิตที่นี่เป็นเวลาไม่กี่คืน เมื่อเท้าฉันมันย้ำไปสัมผัสที่ไหนสักแห่งของหมู่บ้าน สิ่งเดียวที่ฉันได้พบก็คือ “ทรัพย์” ที่ฉันไม่สามารถตีค่าเป็นเงินบาทได้ ทรัพย์ที่ฉันไม่รู้ว่าหากฉันลงจากดอยแห่งนี้ไป ฉันจะหาซื้อที่ไหนได้อีกบ้าง ชาวบ้านทุกๆคนทักทายด้วยการ มอบรอยยิ้มให้ฉัน คนรับอย่างฉันรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นต้นไม้ที่ได้รับการรดน้ำ ใส่ปุ๋ย เพราะฉันรู้สึกชุ่มชื่นในหัวใจจริงๆ

ได้เห็นรอยยิ้มจากชาวบ้านว่ามีความสุขแล้ว การได้ลงมือทำอะไรให้เด็กๆ แล้วได้สิ่งตอบแทนกลับมาเป็นรอยยิ้มนั้น มันช่างมีความสุขมากที่สุด การได้เห็นยิ้มจากเด็กๆ การได้ยินเสียงหัวเราะจากเด็กๆที่นี่มันทำให้ฉันรู้สึกแบบที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน เพราะรอยยิ้มที่ฉันกำลังยืนมองดู เป็นรอยยิ้มที่มาจากการให้ของฉันและทุกๆคน ให้ในสิ่งที่พวกเราเองไม่หวังสิ่งตอบแทน ให้ในสิ่งที่พวกเราอยากจะมอบให้แก่เขาเหล่านี้

เมื่อกวาดสายตาไปทั่วๆห้องเรียนห้องหนึ่ง มองดูและจดจ่องหน้าของชาวค่ายที่ต่างก็ก้มหน้าก้มตาตั้งใจทำงานในสิ่งที่ตัวเองได้รับมอบหมายแล้ว ฉันภาคภูมิใจมาก ที่ได้เห็นภาพเหล่านี้ ทุกๆคนตั้งใจทำงาน บ้างก็พูดคุย หยอกล้อกัน เสียงหัวเราะที่ดังอยู่กังวานห้อง ทำให้เราลืมว่า การใช้ชีวิตบนที่แห่งนี้ใกล้จะสุดวันเวลาเข้าไปทุกที

จะว่าไป หมู่บ้านแห่งนี้เริ่มจะสะกดฉันไว้ไม่อยากให้กลับบ้านแล้วสิ ฉันใช้ชีวิตที่แม่แฮงมาไม่กี่วัน เรียนรู้ชีวิตที่ไม่มีไฟฟ้า อยู่โดยไม่ต้องจับเทคโนโลยีเช่นโทรศัพท์ หลุดออกไปจากโลกโซเชียล ได้เข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ ได้มองท้องฟ้าอย่างที่ไม่เคยมอง และได้รับรอยยิ้มจากที่แห่งนี้อย่างที่ไม่เคยได้รับจากที่ไหนมาก่อน แม่แฮงแห่งรอยยิ้ม แม่แฮงแห่งมนต์สะกด  สะกด ด้วย รอยยิ้ม….

                                             “บท นิยาม บทหนึ่ง”

นิยาม คำว่า เพื่อน  

เคยได้ยินไหมว่า “เพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายหายาก” ความหมาย ณ ที่นี่อาจจะไม่ได้แปลความตรงตัวอย่างที่ว่า เพื่อนตายหายาก หมายความว่า เพื่อนที่คอยเดินทางไปพร้อมเรา ฟันฝ่าอุปสรรคมาด้วยกัน ไม่เห็นแก่ตัว ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

การมาค่ายจิตอาสาแบบนี้จะเห็นได้ถึงคำว่า น้ำใจ และการช่วยเหลืออย่างแท้จริง เพราะแต่ละชีวิต ที่มาเขาได้สละคำว่า เห็นแก่ตัว ออกไปจากร่างกายและจิตใจหมดแล้ว   

เหตุผลหนึ่งที่ฉันชอบเดินทางคนเดียว คือ การได้พบเจอเพื่อนใหม่ ฉันได้เรียนรู้จากการอยู่ร่วมกัน ในค่าย “เพื่อน” ในความหมายนี้ไม่จำเป็นต้องมีอายุเท่ากันเสมอไป เพื่อนใหม่ของฉันในค่าย อายุมากกว่าฉันถึงห้า หกปีก็มี สอง สาม สี่ ปี ก็เยอะ เพียงแค่เราต้องรู้จักกาลเทศะในการอยู่ร่วมกัน

ฉันได้เพื่อนใหม่ในครั้งนี้รวมแล้วเกือบ30คน ทุกคนเป็นเพื่อนที่ดีของฉัน คอยช่วยเหลือดูแลฉันตั้งแต่วันแรกที่เจอกัน ฉันดีใจที่ได้พบเจอเพื่อนร่วมทางที่ดีแบบนี้ และเข้าอกเข้าใจในความรู้สึกของกันและกัน ฉันว่านะ การเจอเพื่อนใหม่ต่างดินแดนนี่ เป็นอะไรที่วิเศษณ์จริงๆ เพราะในคำว่าเพื่อนทำให้เรา ได้พี่ชาย พี่สาว เพิ่ม ทำให้เรากลายเป็นเสมือน ญาติ พี่น้อง ต่างสายเลือดไปโดยปริยาย

การเดินทางครั้งนี้สอนให้ฉันรู้จักการวางตัว การอยู่ร่วมกับคนที่ฉันไม่เคยรู้จัก การทำงาน การคิดการตัดสินใจ รวมไปถึงการบริหารชีวิตของฉันเอง คำว่า “เพื่อน” ที่เขาว่ามันยิ่งใหญ่ ฉันก็พึ่งจะลึกซึ้งเข้าจริงๆก็วันนี้แหละ

การที่ฉันเจอเพื่อนต่างถิ่นแบบนี้ฉันว่ามันมีข้อดีเยอะเลย นั่นก็คือเราจะยังคบหารู้จักกันไปตลอด แม้ว่าเราจะมาอยู่ด้วยกันเพียงไม่กี่วันกลับทำให้เรามองเห็นถึงหัวใจ นิสัยใจคอ ของทุกๆคน

 

 “ป้าย….”

ครู (ครับ/คะ)

ไม่ใช่แค่เชือกที่คล้องคอ ไม่ใช่แค่กระดาษที่ตวัดปลายปากกาลงไป ไม่ใช่แค่คำนำหน้าที่ดูเท่ห์ ไม่ใช่แค่ตัวอักษรที่มองเห็น…….

เช้าวันนี้ ฉันรู้ดีว่าพรุ่งนี้ตื่นมา ฉันก็ต้องสะพายกระเป๋าลงจากดอย ฉันยืนมองดูรอบๆจากประตูบ้านออกไป วันนี้เป็นวันที่อากาศดีมากกว่าที่เคย มีแดดอ่อนๆส่องผ่านมาตรงหน้าบ้าน จากที่ทุกวันมีฝนโปรยลงมาทุกเช้า คงจะเป็นแสงแดดแห่งการบอกลาแล้วสินะ

นะโจ: “ครู”

เด็กน้อยพูดแค่คำสั่นๆแล้วก็หัวเราะเขินๆ หน้าตาดูไม่ค่อยแจ่มใสอย่างทุกๆวัน เหมือนจะรู้ว่าฉันต้องกลับแล้ว

ฉัน: “นะโจยื่นมือมาให้ครูหน่อยสิ”

ในตัวฉันนอกจากเงินตอนนั้นก็ไม่มีอะไรติดตัวเลยนอกจาก ข้อมือห้อยจี้รูปดาวที่ฉันใส่ติดตัวเป็นประจำ ฉันถอดข้อมือเส้นนี้ออก แล้วสวมให้นะโจ แล้วพูดออกไปตอนนั้นน้ำตากำลังคลอเบ้า เสียงเริ่มสั่นเล็กน้อย

ฉัน: “นะโจเก็บไว้ให้ดีนะ ครูให้ เดี่ยววันหลังครูจะกลับมาดูว่ายังอยู่หรือป่าว”

นะโจ: “พยักหน้าและยิ้ม”

ฉัน: “ชอบไหม”

นะโจ: “ชอบ สวย”

ฉันยื่นนิ้วก้อยบอกนะโจว่า

ฉัน: “สัญญากับครูนะว่าจะตั้งใจเรียน แล้วก็เก็บข้อมือที่ครูให้ดีๆ”

เด็กน้อยได้แค่ดูหน้าฉันแล้วพยักหน้า ยิ้มหน่อยๆ เหมือนเรากำลังบอกลาในขณะที่เกี่ยวก้อยอยู่

ในคืนของวันนี้เป็นคืนที่ชาวบ้านจะจัดเลี้ยงลาพวกครูอาสาอย่างพวกเรา ได้ข่าวว่ามีการแสดงจากชาวบ้านด้วย ฉันตื่นเต้นมากอยากจะดูเร็วๆ เพราะชาวบ้านจะแต่งชุดประจำเผ่าในคืนนี้

ได้เวลานัดหมายที่ลานหมู่บ้าน พวกเรายืนล้อมกันเป็นวงกลม รอดูการแสดง และไม่ช้าในการรอคอย ชาวบ้านก็ออกมาแสดง  เป็นการเต้นของชนเผ่า ดนตรีฟังแล้วแปลกหู แต่ไพเราะมาก มีท่าเต้นประกอบน่าสนุกเชียวแหละ แต่ยากมากถ้าหากจะเต้นตาม ปกติฉันอายที่จะออกไปเต้นและร่วมสังสรรค์แบบนี้ แต่รอบนี้ด้วยความที่นี่ไม่มีไฟฟ้า มันเลยทำให้บรรยากาศดูมืด พูดตรงๆคือ เห็นหน้ากันไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ พี่ผู้ชายร่วมค่ายที่ยืนอยู่ใกล้ฉันชวนฉันออกไปร่วมวงกับชาวบ้าน ฉันเลยออกไปเต้นกับพี่เขา เราเต้นตามชาวบ้านกันจนสามารถเต้นได้ 555 เราหัวเราะกันลั่นเลย ฉันรู้สึกเลยว่าตอนนั้นทุกคนกำลังมีความสุขมากๆ

ฉันขอตัวออกมาจากวงเต้น ผันตัวมาเป็นผู้ดูที่ดี เพราะเหมือนฉันเริ่มจะไม่ไหวแล้ว ตอนนั้นก็รู้สึกเหมือนมีใครมาสะกิดข้างหลังฉัน ฉันเลยหันไป มีกลุ่มเด็กประมาณสามคน ผู้ชายหนึ่งคน อีกสองคนเป็นผู้หญิง พอฉันหันไป เด็กๆก็ยืนยิ้ม บิดซ้ายทีขวาที อายไม่ค่อยกล้าพูดยื่นงึมงำเถียงกันไปมา ฉันเลยถามว่า

ฉัน: “มีอะไรรึป่าวเด็กๆ

เด็กๆสามคน: “ครู ครับ/คะ ขอกอกหน่อย

ฉัน: งง งง แล้วถามอีกรอบว่า  “อะไรนะ พูดใหม่ได้ไหม ครูฟังไม่ถนัด”

เด็กๆสามคน: “ขอกอกหน่อย >>>>>>(ขอกอดหน่อย)

ฉัน: “ออ ได้สิ มาๆ กอดกัน”

ฉันและเด็กๆยืนกอดกันท่ามกลางความมืดของท้องฟ้าที่ตะวันค่อยๆจะลับหายไปหายไปทึกที ฉันอึ้งมากเลย ฉันไม่คิดว่าจะมีแบบนี้ เด็กพวกนี้กำลังคิดอะไรอยู่นะ เขารู้ใช่ไมว่าต้องลากันแล้ว ฉันร้องไห้ในขณะที่กอด แต่ก็ ฮึ้บ กลั้นไว้ๆ เด็กเห็นมันไม่ดี

สำหรับเด็กที่นี่ป้ายชื่อที่คล้องคอ ครู ทุกๆคน มันมีความหมายมากจริงๆ มันไม่ใช่แค่แผ่นกระดาษร้อยเชือกธรรมดาแต่มันบ่งบอกว่าเราทุกคนที่คล้องคอป้ายนี้ไว้ มีจิตใจของการเป็นครูอาสาทุกคน ไม่ใช่แค่คำนำหน้าที่ทำให้ดูเท่ห์ แต่ยังทำให้เราดูเป็นเสมือน ครู จริงๆ ที่มีเด็กๆคอยเคารพ คอยรักและต้องการ ไม่ว่าในชีวิตจริงๆเราจะเป็นเด็กในสายตาคนอื่น แต่ ณ หุบเขานี้ เราเป็นผู้ใหญ่ในสายตาของ เราเอง

…ติดตามตอนต่อไป…..

Leave a Reply

scroll to top