เรื่องเล่าจากป่ากำ ตอน ๑

ครั้งแรกของจุดเริ่มต้นของการเดินทาง ของเส้นทางที่เราไม่เคยรู้จัก เราไม่รู้หรอกว่าเส้นทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จะสูง จะชัน จะเดินยากขนาดไหน รู้แค่ว่าเราต้องไปให้ถึง เพราะยังมีคนที่รอความหวังจากพวกเราอยู่ รอการเยียวยา รอความหวังว่าเราจะเข้าไปทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น ไม่มากก็น้อย เราไปครั้งนี้อย่างน้อย หมู่บ้านนี้น้ำประปาภููเขาก็เข้าทุกบ้าน

#เริ่มต้นการเดินทาง

3 ธ.ค 59 เวลา 13:00 น.

        หลังจากที่ปฐมนิเทศเกี่ยวกับกิจกรรม และรับประทานอาหารร่วมกันเสร็จสิ้น เราก็เริ่มเตรียมตัวเดินทางด้วยเท้าเข้าพื้นที่เป้าหมาย เหตุผลที่ต้องเดินด้วยเท้า เพราะด้วยลักษณะเส้นทางที่ชัน ทุรกันดาน และเพื่อความปลอดภัยของครูบ้านนอกทุกท่าน จึงเป็นเหตุผลเดียวที่ทางทีมงานใช้การเดินเท้าเข้าไป

ครูหลายๆคนเคยเดินป่า ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จึงไม่ใช่เรื่องลำบากอะไรมากมายในการเดินเข้าไปด้วยระยะทาง ประมาณ 8 กิโลและมีอีกหลายๆคนที่ดูจะไม่พร้อมเอาเสียเลย หรืออาจจะเป็นครั้งแรกเลยก็ว่าได้สำหรับการเดินทางระยะไกลขนาดนี้ และการแบกรับน้ำหนักกระเป๋าของตัวเองเพิ่มไปอีก และผมก็เป็นหนึ่งในนั้น

เราออกเดินทางมาจาก อ.บ.ต ดงพญา นั้นคือจุดสิ้นสุดทางเลียบ ไม่มีทางที่ให้เราเดินแบบสบายๆ ได้วอร์มร่างกาย ระยะความชันแรกของเส้นทางก็ทำให้เสียงของหัวใจดังพอๆกับเสียงหายใจที่ออกมาจากปาก การทำงานของระบบหัวใจดูเหมือนจะได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มระบบ

สุดท้ายความชันแรกของเส้นทาง ก็ทำให้ทีมงานจำเป็นต้องยอมถอดกระเป๋าออกจากบ่าของพวกเราทุกคน ทั้งที่รถนั้นบรรทุกของบริจาคจนเต็มคันรถแล้ว มองดูแล้วไม่น่าจะเพิ่มอะไรขึ้นไปได้อีกแล้ว แต่ก็เอาขึ้นรถไปได้จนครบทุกคน

เหมือนเส้นทางถูกออกแบบมาเพื่อทดสอบร่างกาย และจิตใจ ของบรรดาเหล่าครูบ้านนอก แต่ธรรมชาติก็ไม่โหดร้ายจนเกินไป ในความเหนื่อย ความอ่อนล้า ก็ยังมอบอากาศที่บริสุทธิ์ สดชื่นและวิวที่สวยงามตลอดสองข้างทางเป็นกำลังใจ ตลอดเส้นทาง

ขอขอบคุณ ภูเขาทุกลูกที่เราเดินขึ้น ต้นไม้ทุกต้นที่เราเดินผ่าน สายลมที่กระทบร่างให้สดชื่น และสายธารที่มอบความเย็นฉ่ำ ตลอดการเดินทาง และที่ขาดไม่ได้เลยคือ หัวใจแห่งการให้ #ครูบ้านนอกรุ่นที่181

มีความประทับใจ

#บ้านป่าก๋ำอ้อมกอดแห่งขุนเขา 3 ก.พ 59 เวลา 17:00 น.

         ประมาณ 4 ชั่วโมงเต็มๆกับการเดินระยะทาง 8 กิโล สุดท้ายเราก็มาถึง ” บ้านป่าก๋ำ ” หมู่บ้านพี่น้องชนเผ่า ลั๊วะ หมู่บ้านเดียวในประเทศไทย ที่ยังยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมแบบ 100% เงินดูจะไม่ใช่เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคนที่นี่ อาชีพหลักของพี่น้องชนเผ่าลั๊วะ คือทำไร ปลูกข้าว ปลูกหัวมัน หัวเผือก ฟักทอง เพื่อที่จะเก็บเอาไว้กินให้ได้ทั้งปี จะไม่ได้ทำเพื่อไว้ขาย เพราะที่ทำไว้ก็ยังจะไม่พอกิน

ชาวลั๊วะ จะมีข้อห้ามข้อหนึ่งซึ่งตัวผมได้เข้าไปอยู่ที่บ้าน จะรับรู้ได้ทันทีว่าเขาจะไม่ต้องการให้เราเขาไปภายในบ้านที่เป็นห้อง ซึ่งผมมองเข้าไปจะเห็นได้ว่า ข้างในจะเต็มไปด้วยพืชพรรณธัญญาหาร เต็มไปหมดทั้งห้อง อุปกรณ์ในการทำไร่ต่างๆจะถูกเก็บไว้ในนี้ทั้งหมด

ผมจึงสัญนิษฐานว่าทำไม่จึงพี่น้องชนเผ่าลั๊วะจึงไม่อยากให้เราเขาไปภายในบ้าน อาจจะเป็นเพราะข้างนอกน่าจะสะดวกสบายกว่าก็เป็นได้ อันนี้คือความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ 555

ลักษณะการสร้างบ้านของพี่น้องชนเผ่าลั๊วะ จะมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนชนเผ่าอื่นๆ บ้านป่าก๋ำเกือบ 100% ของพื้นที่หมู่บ้าน ไม่มีลานสนามเรียบๆ หรือถนนทางเดินเรียบๆเลย มีแต่ทางขึ้นกับทางลง ลดหลั่นกันลงไป

       การเดินทางเข้าหมู่บ้านของพวกเรา ได้รับการตอนรับจากชาวบ้านที่เดินผ่าน ด้วยการยกมือสวัสดี ทักทายพวกเราคนแปลกหน้าจากต่างถิ่น ด้วยรอยยิ้มถึงมิตรภาพที่จะเกิดขึ้น แต่สำหรับเด็กๆดูจะไม่ยินดียินร้ายอะไร เพราะใบหน้าไม่ได้บ่งบอกอารมณ์ไดๆออกมา คงจะอาย หรือไม่ก็กลัวกับคนแปลกหน้าจากต่างถิ่น

เราเข้ามาถึงหมู่บ้านก็จนห้าโมงเย็นละ สรุปวันนี้ไม่ต้องทำกับข้าว ทีมงานแจกข้าวเหนียวคนละห่อ สบายอุรา เอิงเงย!

บ้านหลังที่4

หลังจากที่เราเดินเท้าเข้ามาจนถึงหมู่บ้านป่าก๋ำ ก็ได้ไปรวมกันที่กองบัญชาการ ของทีมงานเพื่อนำครูบ้านนอกทุกท่าน เข้าพักอาศัยตามบ้านที่ทางทีมงานได้จัดเอาไว้ พร้อมมอบข้าวเหนี่ยวหนึ่งห่อเพื่อเป็นอาหาร สำหรับเย็นวันนี้

      หลังจากที่ก้าวเข้าสู่ชายคาของตัวบ้านแล้วนั้น ผมก็ได้มาหยุดอยู่ตรงบรรไดทางขึ้นบ้าน พร้อมกล่าวสวัสดีเป็นการทักทายเจ้าของบ้าน มองขึ้นไปบนบ้านเห็นพ่อกำลังวุ่นวายกับการทำอาหารเย็น ก็ได้ขออนุญาติขึ้นบ้าน หมอสีดำที่เต็มไปด้วยเขม่าฟืนใบไม่ใหญ่มาก กำลังตั้งอยู่บนเหล็กสามขา ที่กำลังพวยพุ่งไปด้วยไอความร้อนของน้ำแกงที่กำลังเดือด ผ่านแสงจากไฟฉายที่รัดอยู่บนหัวของพ่อ ซึ่งกำลังปรุงรสอาหารอย่างพิถีพิถัน แล้วก็เสร็จพร้อมๆกับพวกเราที่มาถึงพอดี

ผมมาพร้อมกับเพื่อนผู้ร่วมอุดมการณ์อีก2คน คือ ครูมอส กับ ครูมิ้ง 3วัน3คืน กับที่เราจะต้องอยู่ร่วมกัน ณ.บ้านหลังนี้

พอพวกเราวางกระเป๋าสัมภาระเสร็จสิ้น พ่อก็กำลังจะกินข้าว พ่อก็ได้ชวนพวกเราเข้าไปร่วมวงด้วย โดยมีแม่นั่งอยู่ข้างๆ ผมก็ไม่ชักช้าในการตอบรับในน้ำใจในครั้งนี้ ในเมื่อโอกาสเปิดให้ผมที่จะได้สร้างความคุ้นเคย ผมก็ไม่รีรอเลยที่จะหยิบห่อข้าวเหนียวโดดเข้าไปร่วมวงด้วย ลดความตึงเคลียดด้วยการพูดคุยกันไป มือก็ทำหน้าที่ปั้นข้าวเหนียวเอาเข้าปากพร้อมๆกันไป

ดูเหมือนจะได้ผล คำถามถูกถามออกไปอย่างไม่ขาดตอน ด้วยความอยากรู้และหลายๆอย่างที่ยังสงสัย พร้อมทั้งกินอาหารที่พ่อทำ ถึงมันจะไม่ใช่รสชาติที่ผมคุ้นเคยสักเท่าไหรก็ตาม แต่ก็กินเพื่อตอบแทนน้ำใจไมตรี และ ให้ดูเป็นกันเองมากที่สุด

บ้านหลังนี้มีคนอาศัยอยู่ที่บ้าน3 คน คือพ่อ แม่ และ น้องปีซึ่งเป็นหลาน ส่วนพ่อและแม่น้องปี ได้นอนอยู่ที่ไร่ไม่ได้กลับมานอนที่บ้าน เคยถามน้องปีว่าทำไมไม่นอนที่ไร่กับพ่อแม่ น้องปีตอบกลับมาว่า ที่กลับมานอนที่บ้านหลังนี้เพื่อ ตอนรับพวกเราโดยเฉพาะ น้องปีเป็นคนน่ารักมาก

หลังจากที่พูดคุยกันจนสมควรแก่เวลา เราก็ทยอยกันอาบน้ำ อากาศที่นี้ไม่ค่อยหนาวอย่างที่เราคิดกันไว้แต่แรกสักเท่าไหร แต่น้ำที่อยู่ในถังนี้ซิเหมือนมีคนเอาน้ำแข็งมาแช่ไว้ก่อนที่เราจะอาบ ตักน้ำราดแต่ละทีเย็นไปถึงกระโหลกกันเลยทีเดียว อาบน้ำเสร็จเราก็กลับไปที่กองบัญชาการเพื่อทำกิจกรรมสันทนาการ และเตรียมว่างแผนสำหรับกิจกรรมในวันพรุ่งนี้ ก่อนจะกลับมาที่บ้านเพื่อพักผ่อนหลังจากที่เราเดินด้วยความอ่อนเพลียกันมาตลอดระยะเวลากว่าครึ่งวัน

เล่าเรื่องโดย: พญาแมน ขอมดำดิน

scroll to top