สานฝัน ปันรัก

…ครูบ้านนอก  รุ่น 80…

 

ที่มาของคำว่า “รัก”  สาเหตุหนึ่งมาจากการ “เติมเต็ม” และ “แบ่งปัน”  ซึ่งการ “แบ่งปัน” นี้สามารถทำได้หลายวิธี  ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันสิ่งของ  แบ่งปันความรู้  และอื่นๆอีกมากมาย ที่เราสามารถทำได้  ส่วนการ “เติมเต็ม”  คือการเพิ่มในสิ่งที่เขาขาด  ที่เขาไม่มี  หรือไม่เคยได้รับ เป็นต้น   ณ วันนี้ก็เช่นกัน  ในช่วงเทศกาลแห่งความรัก  มันเป็นช่วงแห่งการแบ่งปัน และเติมเต็มอย่างแท้จริง  สำหรับครูบ้านนอกรุ่น 80  เพราะเป็นช่วงที่หลาย ๆ คนได้ใช้เวลาพิเศษนี้อยู่กับคนที่รัก  ครอบครัวที่รัก  แต่ ครูบ้านนอกกว่า 24  ชีวิต ได้เลือกที่จะมาแบ่งปัน  สานฝัน  เติมเต็มความรักให้กับเด็ก ๆ บนดอยสูงที่เขาขาดแคลน

ณ  บ้านสันกลาง  ชนเผ่าอาข่า  ต.ห้วยชมภู  อ.เมือง  จ.เชียงราย   การเดินทางไปครั้งนี้เป็นการเดินทางที่แสนสนุก  คลุกเคล้าฝุ่นดินบนถนนดินแดง  สร้างความตื่นเต้นเร้าใจไปอีกแบบประกอบกับบรรยากาศ สองข้างทางที่สุดแสนจะบรรยาย  เดินทางได้ไม่นานสายฝนก็สาดเทลงมาช่วยผ่อนคลายความร้อน ทั้ง ๆ ที่หน้านี้ไม่ใช่ฤดูฝนเลย  กว่าจะเดินทางถึงหมู่บ้านครูบ้านนอกแต่ละคนก็มอมแมมกันพอสมควร  เมื่อถึงหมู่บ้านบรรยากาศการต้อนรับที่แสนอบอุ่นของชาวบ้านและเด็ก ๆ ชนเผ่าอาข่า

มันทำให้หาย เหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง  พักพอหายเหนื่อย  การรอคอยของเด็ก ๆ   การรอลุ้นของคุณครู ก็มาถึงช่วงเวลาที่เด็ก ๆ จะเลือกครูเข้าพักที่บ้านของตนเอง  เอาหละคราวนี้ครูใช้วิทยายุทธกันยกใหญ่  ทำอย่างไรให้เด็ก ๆ เลือกแต่ด้วยความสามารถที่ครูพกติดตัวกันมาใช้โน้มน้าวจิตใจเด็ก ครูก็มีบ้านนอน  เด็ก ๆ จูงมือครู ช่วยกันถือกระเป๋าสัมภาระเข้าบ้านตัวเอง  บรรยากาศช่วงเวลานี้ช่างเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับเทศกาลแห่งรักเสียนี่ กระไร   ค่ำคืนนี้กลางลานหมู่บ้าน ครู เด็ก ๆ  อามะ – อาดะ  มาร่วมเล่นกิจกรรมสันทนาการร่วมกัน สร้างความสนุกสนานครื้นเครงไปอีกแบบ  ก่อนที่จะมีเวทีพบปะพูดคุยกับผู้นำและกรรมการหมู่บ้าน เพื่อทำความรู้จัก ฝากเนื้อฝากตัว และซักถามความสงสัยต่าง ๆ ที่ครูอยากรู้ เกี่ยวกับประวัติหมู่บ้าน  ประเพณีวัฒนธรรม ฯลฯ  ก่อนจะล่ำลากันเข้านอนเพื่อเตรียมตัวตื่นขึ้นมารับตะวัน กับวันใหม่ที่สดใสในบรรยากาศท่ามกลางขุนเขาและลมเย็น ๆ ในช่วงปลายหนาว  บรรยากาศเช้าวันใหม่กับน้ำชาอุ่น ๆ ในกา ที่อามะ-อาดะ ยื่นให้แขกที่เข้ามาพักอาศัยในบ้านซึ่งเปรียบประดุจดังลูกหลาน ช่างดีและอบอุ่นเสียเหลือเกิน  วันนี้เป็นวันที่สองที่เหล่าครูบ้านนอกมาทำกิจกรรม ณ หมู่บ้านนี้ ซึ่งวันนี้เป็นวันอาทิตย์ ชาวบ้านหยุดทำงานเข้าโบสถ์ ประกอบพิธีทางศาสนาคริสต์ก่อนที่จะมีเวทีพบปะพูดคุยกับผู้นำและกรรมการ หมู่บ้าน เพื่อทำความรู้จัก ฝากเนื้อฝากตัว และซักถามความสงสัยต่าง ๆ ที่ครูอยากรู้ เกี่ยวกับประวัติหมู่บ้าน  ประเพณีวัฒนธรรม ฯลฯ  ก่อนจะล่ำลากันเข้านอนเพื่อเตรียมตัวตื่นขึ้นมารับตะวัน กับวันใหม่ที่สดใสในบรรยากาศท่ามกลางขุนเขาและลมเย็น ๆ ในช่วงปลายหนาว

บรรยากาศเช้าวัน ใหม่กับน้ำชาอุ่น ๆ ในกา ที่อามะ-อาดะ ยื่นให้แขกที่เข้ามาพักอาศัยในบ้านซึ่งเปรียบประดุจดังลูกหลาน ช่างดีและอบอุ่นเสียเหลือเกิน  วันนี้เป็นวันที่สองที่เหล่าครูบ้านนอกมาทำกิจกรรม ณ หมู่บ้านนี้ ซึ่งวันนี้เป็นวันอาทิตย์ ชาวบ้านหยุดทำงานเข้าโบสถ์ ประกอบพิธีทางศาสนาคริสต์ครูทั้งหลายก็มีกิจกรรมที่จะทำร่วมกับชาวบ้านและ เด็กเช่นกัน  วันนี้เราเหล่าครูบ้านนอกจะทำการเรียนการสอนทั้ง อาดะ – อามะ  และเด็ก โดยใช้พื้นที่ในหมู่บ้านเป็นห้องเรียนในช่วงเช้า  ช่วงบ่ายจะเป็นการเสริมสร้างสุขลักษณะอนามัย ไม่ว่าจะเป็นการตัดเล็บ  ตัดผม  กำจัดเหา  อาบน้ำขัดสีฉวีตัว  ให้เด็ก ๆ   เพื่อปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้การรักษาอนามัยตั้งแต่เด็ก  ตกเย็นเป็นเวลาของครอบครัวครูแยกย้ายเข้าบ้านเพื่อทำอาหารและทานอาหารร่วม กับคนในครอบครัว  ก่อนมาทำกิจกรรมรอบกองไฟ  และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำความรู้จักระหว่างครูด้วยกันเอง  และเสริมด้วยกิจกรรมการละคร  โดยวิทยากรผู้เลอโฉม (จ่าแกะ)  เช้าวันใหม่สดใส  อิ่มใจกับทะเลหมอก วันนี้เป็นวันที่ครูจะเป็นนักเรียน  ส่วนเด็ก ๆ ก็จะกลับกลายมาเป็นครูแทน  เพราะเหตุอะไร  เพราะวันนี้ครูจะได้เรียนรู้การดำรงชีวิตจริง ๆ ที่ชาวบ้านและเด็ก ๆ ดำรงชีพในแต่ละวัน  วันนี้ครูจะห่อข้าวเที่ยงไปด้วยจะได้แวะทานระหว่างไปทำไร่กับเด็ก วันนี้ทั้งวันนักเรียนครูบ้านนอกโดนครู (เด็ก ๆ ) สอนวิชาชีพกันถ้วนหน้า  ก่อนกลับบ้านแวะเก็บผัก  หักฟืน  ระหว่าทางที่เราผ่านเพื่อไปประกอบอาหารได้อีก วันนี้วันที่ครูรอคอยก็มาถึง  วันแห่งการเป็นครู

 เช้าวันนี้ครู จะออกเดินทางไปโรงเรียนพร้อมเด็ก ๆ ในหมู่บ้านซึ่งโรงเรียนที่ครูเข้าไปสอนนั้นห่างจากหมู่บ้านต้องเดินเท้า ประมาณ 2 กิโลเมตร  ซึ่งโรงเรียนห้วยแม่เลี่ยมเป็นโรงเรียนขยายโอกาสมีถึงชั้น ม. 3 ถึงโรงเรียนครูบ้านนอกเข้าแถวเคารพธงชาติพร้อมเด็ก ๆ ที่โรงเรียน (เอ !  ครูคนไหนลืมเพลงชาติ  บทสวดมนต์ไปบ้างแล้วเดี๋ยวได้รู้กัน)  หลังจากเด็ก ๆ แยกย้ายกันเข้าห้องเรียนคณะครูบ้านนอกและครูประจำการก็ได้เวลาทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนความคิดกัน  ก่อนที่ครูบ้านนอกจะแยกย้ายกันเข้าสอนแต่ละชั้นเรียน  เที่ยงแล้วก็ทานอาหารร่วมกับเด็ก ๆ ที่โรงเรียน ช่วงบ่ายเราแข่งขันกีฬา  สร้างความสามัคคีกัน (มันส์มากกก)
เย็นย่ำเคารพธงชาติพร้อมเด็ก หลังเลิกเรียนก่อนเดินทางกลับบ้าน  คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายที่ครูและเด็กจะได้ทำกิจกรรมร่วมกันรอบกองไฟ  ชาวบ้านก็จะมีการเต้นรำแบบฉบับชนเผ่าอาข่าให้คณะครูบ้านนอกได้ชมได้ร่วมเต้น กัน  ซึ่งการเต้นนี้ปรกติชาวบ้านจะเต้นเฉพาะช่วงเทศกาล  หรือมีแขกสำคัญเท่านั้น  ครูบ้านนอกได้สวมใส่ชุดประจำชนเผ่าอาข่ามาอวดโฉมกันด้วย  หลังจากคืนนี้ไปไม่รู้อีกนานแค่ไหนที่เด็ก ๆ และชาวบ้านจะได้มีแขกมาเยือน  มาร่วมแบ่งปันความสุขอีกครั้งหนึ่ง

หลังกองไฟในคืนนี้มอดลงมันคงเป็นสัญญาณแห่งการร่ำลานั้นเอง  เช้าวันใหม่ก็มาถึงซึ่งถ้าเป็นไปได้ครูหลาย ๆ คนอยากให้โลกใบนี้หมุนช้าลงอีกสักนิดเพื่อที่จะอยู่กับเด็ก ๆ ในนานกว่านี้อีกแต่ไม่มีใครฝืนธรรมชาติได้   “วันลา – วันจาก”  ก็มาถึง  ก่อนร่ำลาครูและเด็ก ๆ แลกเปลี่ยนสถานที่ติดต่อกันเพื่อเขียนเป็นจดหมายฉบับน้อย ๆ เล่าสารทุกข์สุขดิบกัน  ก่อนแยกย้ายขึ้นรถเดินทางกลับ ไปทำภารกิจที่ครูบ้านนอกละทิ้งมา  เด็กและชาวบ้านก็ทำหน้าที่  ของตนเองต่อไป  ตราบใดที่โลกยังหมุนอยู่ครูและเด็ก ๆ ก็ยังมีกันและกันในความทรงจำตลอดไป

 

Leave a Reply

scroll to top