เดินขึ้นดอย..ก่อนวันลอยกระทง

ลม หนาวเริ่มโชยเข้ามาแล้ว พัดปลิวย่างเข้าสู่ปฏิทินหน้าใหม่ ที่รอการขุดคุ้ยของเหล่านักกิจกรรมทั้งหลาย ที่รอการรวมตัวกันมาสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับสังคม

ใช่ครับ!! ปฏิทิน หน้านี้ลมหนาวได้พัดหอบเอาหัวใจของผู้มีจิตอาสาเข้ามาด้วย กระดาษหน้าใหม่พร้อมที่จะรองรับรอยขีดเขียน เรียงร้อยเป็นเรื่องราวของครูอาสารุ่นที่ 87 ทั้งสิบเก้าชีวิตที่พร้อมใจกันก้าวเข้าสู่ประตูแห่งความท้าทาย ภายใต้ชายคาของหมู่บ้านห้วยน้ำริน  ก้าว แรกของคณะครูบ้านนอกวันนี้ เริ่มขึ้นที่ศูนย์กระจกเงา ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นหุบเขาแห่งการเรียนรู้ ที่มีแปลงเพาะขนาดใหญ่ สำหรับรองรับต้นกล้าเข้ามาเพาะบ่ม ซึมซับน้ำ ปุ๋ย แห่งการเรียนรู้ สำหรับภารกิจในการแนะนำองค์กร เพื่อคลายข้อสงสัยของคณะครูทุก ๆ คน  ให้เกิดความเข้าใจในบทบาท หน้าที่และเป้าหมายขององค์กร  องค์กร กิจกรรมการปฐมนิเทศให้ความรู้เรื่องต่าง ๆ ในชุมชนที่ควรตระหนัก

จนเวลาล่วงเลยไปประมาณเกือบบ่ายโมง คณะครูทุกคนจึงได้เริ่มขบวนไปยังเป้าหมาย ที่รอคอยการเยื้องย่างของคนพื้นราบต่างถิ่น

โรงเรียน บ้านห้วยทรายขาว ที่มีจำนวนนักเรียนกว่าสองร้อยชีวิต ซึ่งเราได้จัดครูให้เข้าประจำการสอนตลอดสามวันในทุกระดับชั้น ยกเว้นอนุบาล ตกตอนเย็นของวันแรกมีช่วงที่ตื่นเต้นที่สุดก็คือการเลือกครูเข้าบ้านแต่จริง ๆ แล้วครูไม่มีสิทธิ์เลือก แต่ทั้งหมดจะอยู่ที่เด็กตัดสินใจเลือกเอง บางส่วนเด็กได้เลือกไปแล้ว แต่กลับมีครูอีกบางส่วนที่ยังไม่มีที่ซุกหัวนอน จนต้องมาที่หมู่บ้านและเลือกกันอีกครั้ง ในที่สุดความคั่งค้างก็เรียบร้อย 

หลัง จากที่อาบน้ำ กินข้าวซึ่งอาจเป็นแบบฝึกบทแรกสำหรับครูหลาย ๆ คนในการทดสอบเสน่ห์ปลายจวักของแต่ละคน เพราะนี่คือหนึ่งในกิจกรรมหลักของการเรียนรู้วิถีชุมชน ย่างเข้าสู่บรรยากาศค่ำคืนแรกของการใช้ชีวิตบนพื้นที่สูง

ที่ ทุกคนต้องดูดซับเอาความเป็นดั้งเดิมของธรรมชาติที่ปราศจากการแต่งเติมทั้ง สิ้น และในค่ำคืนนี้ก็จะมีฝ่ายดูแลความสงบคอยเดินรบกวนอยู่ นั่นคือ “ครูท้อป” กับ “ครูพอน” ของพวกเราที่คอยสอบถามหากมีการขอความช่วยเหลือตลอดครึ่งคืน

แสงอรุณ เริ่มสาดส่องออกมาเหมือนกับมาขับไล่ความหนาวเย็นของหมอกหนา ๆ ที่ปกคลุมอยู่ตลอดทั้งคืนและเป็นสัญญาณเตือนว่าภารกิจอันหนักอึ้งของอีกวัน เริ่มขึ้นแล้ว ครูท้อปจ้าวเก่าก็เดินลงไปสำรวจความเรียบร้อย

จากบ้านแรกของครูนุ้ย ครูไก่ ลงไปเรื่อย ๆ จนไปสมทบกับสองหนุ่มที่หลงเข้ามาในคณะอาสาในครั้งนี้ ครับ!! ครูดิ ว หนุ่มปริญญาโทสถาปัตยกรรม ครูเบน บัณฑิตบริหารธุรกิจ ซึ่งก็ช่วยติดตามในการไล่ล่าครู ๆ ให้ขึ้นมายังลานกิจกรรมอย่างตรงเวลา รู้สึกว่าบ๊วยหลังสุดของเช้าวันแรกจะเป็นของครูกุ๊กไก่ นักศึกษาสาวจากรั้วศิลปากร
วันนี้กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการ เดินจากหมู่บ้านไปยังโรงเรียน ซึ่งมีระยะทางกว่า 2 กิโล..แม้ว.. ชมบรรยากาศในยามเช้าของสองข้างทางและแสงตะวันเริ่มเปล่งมากขึ้นเรื่อย ๆ กระตุ้นให้คณะครูเร่งฝีเท้าเร็วขึ้น

เกือบ แปดนาฬิกาทุกคนก็มาถึงโรงเรียนและเริ่มทำกิจกรรมตามที่แต่ละคนได้จัดเตรียม มา ซึ่งมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวิชาการเรียนการสอนเต็มรูปแบบหรือการใช้เกมเข้ามาเป็นสื่อในการ เรียนรู้ของเด็ก ๆ ย่างเข้าสู่กิจกรรมอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ เป็นการลอยกระทง ที่ทำร่วมกันระหว่างเด็ก ๆ กับครู ที่สามารถหอบใส่ความรักความผูกพันใส่ในกระทงอย่างเต็มที่

การ เรียนรู้วิถีชุมชนและรับทราบถึงปัญหาทั้งที่กำลังแก้ไขอยู่และรอการแก้ไข เป็นสิ่งที่สำคัญที่คณะครูบ้านนอกจะต้องรับรู้และมีส่วนบ้างในการแก้ไข ที่จะนำไปสู่การสานต่อระหว่างครูบ้านนอกกับชุมชน ท้ายสุดเป็นเรื่องของความรู้สึกที่ผมเองไม่สามารถตอบโจทย์ได้ว่า “คุณได้อะไรจากการมาเป็นครูบ้านนอก?” แต่ เชื่อแน่ว่าคำตอบทุกคำครูทุกคนจะสามารถตอบคำถามของตัวเองได้ เพราะต่างคน ต่างความรู้สึก และต่างมุมมอง แต่ที่มากกว่านั้นก็คือความประทับใจและขอบคุณสำหรับความมีใจเสียสละของเหล่า ครูอาสาที่รวมใจกันเพื่อมาเดินขึ้นดอยในเวลา 4 คืน 5 วัน ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปลอยกระทงดำเนินภารกิจของแต่ละคนต่อไป…

ภาพที่ 1 …วันแห่งการร่ำลา วันแห่งการเสียน้ำตาให้กับความสุขและความประทับใจ…

ภาพที่ 2 …ภาพรวมคณะครูบ้านนอก-เด็ก ๆ ชาวบ้าน ..บ้านห้วยน้ำริน

Leave a Reply

scroll to top