ลุยเดี่ยว สู่ดอย

เชื่อว่าหลายๆคนมักใช้วันลาพักร้อนไปเที่ยวพักผ่อนกับครอบครัว กับเพื่อนๆ กับคนรัก ตามสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆทั้งในและต่างประเทศอย่างสนุกสนานเบิกบานใจ แต่วันนี้ ขอเสนอการลาพักร้อนที่แตกต่างออกไป เพราะเราจะมาบอกเล่าเรื่องราวของการลาพักร้อนไปคนเดียว ลุยเดี่ยว สู่ดอย ไปเป็นครูอาสาบนดอยสูงค่ะ

โครงการครูบ้านนอก มูลนิธิกระจกเงาสำนักงานเชียงราย มีมาแล้วกว่าร้อยรุ่น โดยโครงการนี้จะจัดขึ้นทุกเดือน  แต่ละเดือนก็จะลงพื้นที่แตกต่างกันไป โดยรุ่นที่155 ที่ผู้เขียนได้เดินทางไปนั้น เราเดินทางไปยังหมู่บ้านจะจ๋อ ตำบลดอยฮาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ร่วมกับอาสาสมัครครูบ้านนอกจากทั่วทุกสารทิศรวมกว่า30ชีวิต  ผู้เขียนเดินทางไปคนเดียวด้วยความเชื่อที่ว่า แม้เราจะเดินทางไปตัวคนเดียว แต่ตอนกลับเราจะไม่ได้กลับมาตัวคนเดียวแน่นอน แต่เราจะกลับมาพร้อมมิตรภาพจากครูบ้านนนอกทุกคนที่มีหัวใจอาสาเหมือนๆกัน

วันแรกของการเดินทาง พวกเราครูบ้านนอกถูกฝึกกระบวนการเดินดอย เราเดินเท้ากว่า 4 กิโลเมตร ข้ามสะพานไม้ที่ชำรุดซึ่งเป็นสะพานแขวนที่แกว่งไกวยามลมพัด ขึ้นเขาลงเขาไปตามทางเลียบลำน้ำกก เพื่อเดินทางไปยังหมู่บ้านจะจ๋อ ถึงมันจะเหนื่อย และเหนื่อยมากขึ้นเมื่อเห็นทางข้างหน้าสูงชัน แต่ก็มีความสุขมากๆกับความสวยงามของวิวทิวทัศน์ระหว่างทาง12 a02 a04 a08 a11

ในที่สุด เราก็เดินมาจนถึง “หมู่บ้านจะจ๋อ” หมู่บ้านที่บ้านแต่ละหลังไม่มีรั้วกั้น หมู่บ้านที่ประตูบ้านไม่ต้องมีกุญแจล๊อค หมู่บ้านที่ปิดประตูบ้านด้วยการคล้องเชือก หมู่บ้านที่ห้องน้ำ1ห้องใช้กันหลายหลังคาเรือน หมู่บ้านที่แมว หมา ไก่ วิ่งขึ้นบ้านกันอย่างสนุกสนาน หมู่บ้านที่มีนาฬิกาปลุกเป็นเสียงไก่ขัน(ที่ตรงเวลามากๆ) หมู่บ้านที่มีชาวบ้านที่น่ารักและจริงใจ เป็นหมู่บ้านที่ทำให้คนรักบ้านอย่างฉัน ไม่อยากกลับบ้าน

เหล่าครูบ้านนอกจับกลุ่มแยกย้ายกันไปพักอยู่กับชาวบ้านจะจ๋อ ผู้เขียนและครูบ้านนอกอีกสองคนได้พักอยู่กับครอบครัวหนึ่งซึ่งมีแม่อุ๊ย(คุณยาย)1คน มีเด็กเล็กๆ3คน และเด็กโตอีก2คน  เราได้ร่วมกันทำอาหารในครัวที่ดูย้อนยุคไปหลายสิบปี แต่ถึงครัวจะย้อนยุค แต่อาหารที่ทำออกมาก็อร่อย อิ่มท้องและอิ่มใจมากๆ ครัวที่บ้านของแม่อุ๊ยที่ผู้เขียนไปอาศัยอยู่ด้วย เป็นครัวที่ใช้เตาฟืนก่อไฟหุงข้าว คนไม่เคยทำก็สำลักควันกันเป็นแถวๆ อาหารมื้อแรกพวกเราทำเอง แต่มื้อต่อๆมาแม่อุ๊ยคงทนเห็นเราทำกับข้าวเก้กังๆไม่ไหว เลยมาช่วยทำ หรือไม่ก็ทำให้เราซะเลย  ผักก็เก็บจากหลังบ้านมาต้มกิน ปลาที่นี่เขากินปลาแห้งกัน แห้งขนาดไหน…แห้งขนาดที่ว่าต้องใช้อีโต้สับปลาเป็นชิ้นๆ สับทีก็กระเด็นไปคนละทิศคนละทาง แล้วค่อยเก็บที่กระเด็นออกไปมารวมกันแล้วค่อยเอาไปทอด ถ้าทอดแล้วไม่กรอบ ก็เหนียวเหมือนกินหนังยางเลยทีเดียว  คนที่นี่กินง่าย อยู่ง่าย มีความสุขกันอย่างง่ายๆมากเลยค่ะ

วันรุ่งขึ้นเมื่อเริ่มภารกิจครูดอย เหล่าคุณครูทำกิจกรรมวงกลมกับเด็กๆ ทั้งเล่นเกม ร้องเพลง สอนหนังสือ  ให้วาดรูป ระบายสี เล่านิทานให้ฟัง เด็กๆที่นี่ชอบฟังนิทานเป็นพิเศษ พอคุณครูเล่าจบหนึ่งเรื่อง ก็จะวิ่งไปหยิบนิทานเล่มใหม่มายื่นให้คุณครูเล่าอีก เห็นแววตาใฝ่รู้ของพวกเขาแล้วก็เป็นความสุขของครูตัวเล็กๆอย่างเรามาก พวกเธอขี้อาย ไม่ค่อยกล้าพูด แต่เมื่อไหร่ที่หยิบกล้องขึ้นมาก็ไม่มีใครยอมใคร แข่งกันโพสต์ท่าสุดฤทธิ์น่ารักที่สุด  พอเสร็จกิจกกรมช่วงเช้า ตอนบ่ายเหล่าคุณครูก็พาเด็กๆไปขัดสีฉวีวรรณ อาบน้ำ สระผม ตัดเล็บ แคะขี้เล็บให้เด็กๆ กันที่น้ำตกเล็กๆ ในหมู่บ้าน  พอแคะทั้งขี้เล็บมือ ขี้เล็บเท้าให้เสร็จเท่านั้นแหละ พวกเธอก็ออกไปวิ่งเล่นโดย ไม่ใส่รองเท้า  โธ่!! อุตส่าห์แคะขี้เล็บให้ เด็กหนอเด็ก

หมู่บ้านจะจ๋อเป็นหมู่บ้านของชนเผ่าลาหู่(หรือมูเซอ แต่เราควรเรียกว่าลาหู่จะสุภาพกว่าค่ะ) ชาวบ้านผู้ชายส่วนใหญ่มีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า”จะ” และผู้หญิงส่วนใหญ่มีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า”นา” อย่างเช่นเด็กๆในหมูบ้านจะมีชื่อว่า จะกุ๊กก่วย จะอ๋วยจะขบ จะเต้ย นาแบะ นามิแจ นามิแล นามีติ นางือ นามาย นาขบ เป็นต้น

วันต่อมาหลังกิจกรรมการสอนเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ของทางมูลนิธิกระจกเงาและเด็กๆในหมู่บ้านก็พาครูบ้านนอกออกเดินทางไปเที่ยวน้ำตกในอีกหมู่บ้านหนึ่งซึ่งเป็นหมู่บ้านอาข่า การไปเที่ยวน้ำตกครั้งนี้เราใช้วิธีการเดินเท้าเข้าไปในป่า ผ่านไร่ชา ผ่านชุมชน ผ่านหมู่บ้านอาข่า มีร้านค้าเล็กๆ เดินข้ามเขาขึ้นลงสองสามลูกก็มาถึงน้ำตก ได้เล่นน้ำกันเย็นฉ่ำชื่นใจคลายร้อนได้ดีทีเดียวค่ะ แต่ขากลับ..แน่นอน พวกเราต้องเดินกลับ เดินเท้าชมวิวข้างทาง ถึงตอนลงเขาก็ลื่นไถลกันบ้างเล็กน้อย พอให้ได้ส่งเสียงตกใจกันอย่างสนุกสนาน จากที่ตัวเปียกเพราะเล่นน้ำพอกลับถึงหมู่บ้านตัวก็แห้งพอดี
คืนสุดท้ายที่หมู่บ้านจะจ๋อ “เรามาเต้น จะคึ กันเถอะ”   จะคึ เป็นการแสดงประเพณีท้องถิ่นของชาวลาหู่ ล้อมรอบกองไฟเป็นวงกลม เต้นวนไปทางขวาเป็นจังหวะ วันนี้ครูบ้านนอกขอเป็นชาวลาหู่กันซักวัน ชาวบ้านทุกคนตั้งใจจัดเตรียมชุดชนเผ่ามาให้พวกเราใส่ เด็กๆก็ใส่ชุดด้วย พวกเรานักเต้นหน้าใหม่ออกสเต็ปกันไม่ทันเลยทีเดียว  หนึ่ง สองสาม สี่ ซ้าย ขวา ซ้าย ขวา ซ้าย ขวา ขวา

ก่อนกลับกรุงเทพฯ ผู้เขียนบอกกับทุกคนว่า “ฉันรู้สึกว่าตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ ยังไม่ได้หุบยิ้มเลย” บางทีก็เผลอยิ้มออกมาเองแบบไม่รู้ตัว ขนาดตอนอยู่ในห้องน้ำก็ยังยิ้มกับตัวเองอยู่คนเดียว…ห๊ะ!!?  การมาเป็นครูบ้านนอกครั้งนี้ อาจไม่เหมือนการลาพักร้อนทั่วๆไป แต่เราได้เรียนรู้ชีวิตในอีกรูปแบบนึง ได้สัมผัสชีวิตที่ไร้สัญญาณโทรศัพท์  ไร้ไฟฟ้า ไร้อินเตอร์เน็ต  แต่ทุกคนก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้แบบเรียบง่าย มีความสุขที่มาจากภายในจิตใจ เป็นความสุขที่เกิดจากการให้ ซึ่งไม่อาจหาซื้อได้ด้วยเงินทอง

ภาพ /  เรื่อง: Thapanee Jern Rithkerd (ครูเจิน)

 

Leave a Reply

scroll to top