โครงการครูบ้านนอก ขอเชิญชวนผู้ใหญ่ใจดีทุกท่าน ที่มอบโอกาสสู่เด็ก ๆ ชุมชน และสถานศึกษาที่ห่างไกล โดยร่วมกันสนับสนุน ซึ่งเปรียบเสมือนการได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและสังคมชนบทที่ห่างไกล พร้อมจะพัดและนำพาผู้ที่หอบเอากำลังใจ และความเอื้ออาทรมาสู่ชีวิตเล็กๆเหล่านี้ ชีวิตที่ควรจะมีการเติมเต็มและการให้โอกาสจากคนภายนอกที่มีพร้อมและสมบูรณ์กว่าอย่างน้อยก็ด้วยเหตุผลที่ว่า “ เขาคือเพื่อนร่วมผืนดินกับเรา ”
หลักการและเหตุผล
มูลนิธิกระจกเงา สำนักงานเชียงราย เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ตั้งอยู่ ในพื้นที่บ้านห้วยขม ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย มีพื้นที่ปฏิบัติการครอบคลุมในเขต ตำบลแม่ยาว ซึ่งมี18 หมู่บ้านหลัก 12 โรงเรียนและ 3โรงเรียนสาขา โดยเน้นไปในทางการ ทำงานจัดกิจกรรมด้านการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ และเยาวชน รวมไปถึง การช่วยผลักดันส่งเสริมให้คนในชุมชน เกิดการรวมตัวกันขึ้นกลุ่ม เพื่อที่นำไปสู่ความเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง อีกทั้งช่วยชี้แนะให้พวกเขาเหล่านั้นได้ตระหนัก และรับรู้ถึงสังคมในปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
โครงการครูบ้านนอก จะมุ่งเน้นไปในการที่จะช่วยกันระดมกลุ่มคนซึ่งอยู่ในมุมต่างๆ ของสังคมที่มีโอกาสดีกว่าพวกเขาเหล่านั้น มาเป็น “อาสาสมัคร” เพื่อให้ได้เข้ามาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมที่จะช่วยกันพัฒนาชุมชนชนบทในพื้นที่เหล่านั้น อาสาสมัครเหล่านี้ซึ่งนอกจากจะได้ร่วมกันทำประโยชน์ต่อชาวบ้านแล้ว พวกเขาก็ยังได้จะได้รับประโยชน์จากการเข้ามีส่วนร่วมอีกมากมา กล่าวคือจะปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ช่วยกันแบ่งปันสิ่งที่ดีๆ มีความสมานสามัคคี มีจิตใจที่เป็นความเป็น “จิตอาสา ความเป็นคนอาสา ” กล่าวคือเป็นผู้ที่คิดที่จะเป็นผู้ให้โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน
โครงการครูบ้านนอก เนื่องจากในปัจจุบันของสังคมไทยเรานั้น ยังมีกลุ่มคนอีกจำนวนไม่น้อยในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทย ที่ยังเป็นพื้นที่ๆ ประสบกับความขาดแคลนในด้านต่างๆ ในหลายๆด้าน ทั้งทางด้านปัจจัยต่างๆ ในการดำรงชีวิต และทางด้านการศึกษาซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งการขาดแคลนเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหา และภาระให้แก่สังคมไทยเรา โครงการครูบ้านนอกได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ ฉะนั้นโครงการครูบ้านนอกจึงได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะช่วยแบ่งเบาภาระทางสังคมเหล่านี้
ซึ่งถ้าสังคมเรานั้นมีคนที่มีจิตใจอาสา ก็จะเป็นการช่วยลดปัญหาการก่อปัญหาให้กับสังคมได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยสร้างบุคคลที่ดีออกไปสู่ในสังคมทำให้สังคมน่าอยู่ได้อีกทางหนึ่งด้วยซึ่งในโครงการครูบ้านนอกนั้นจะจัดให้คนอาสาเหล่านั้นมีการลงไปพัฒนายังพื้นที่ต่างๆ โดยเริ่มจะจากพัฒนากลุ่มชาวบ้านในตำบลแม่ยาว และจะพัฒนาขยายออกไปไปยังกลุ่มชาวบ้านในตำบลอื่นๆ ซึ่งกลุ่มชาวบ้านเหล่านั้น เป็นที่รู้จักกันดีในนาม “ชาวเขา” นั่นเอง ซึ่งกลุ่มชาวเขาก็จะประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆหลายเผ่า อาทิเช่นเช่น ชนเผ่าอาข่า ( อีก้อ ) ชนเผ่าลาหู่ ( มูเซอ ) ชนเผ่าปกากญอ(กะเหรี่ยง ) ชนเผ่าเย้า (เมี่ยน) เป็นต้น ซึ่งในแต่ละชนเผ่าก็จะมีการใช้ภาษา และวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นเป็นของตัวเองต่างๆกันไป และจะมีการใช้ภาษาไทยเป็น “ภาษาที่สอง”
ด้วยเหตุนี้ทางโครงการจะจัดให้อาสาสมัครเหล่านั้น ได้เข้าไปใช้ชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกันชาวบ้าน ไปขออาศัยพักพิงในบ้านของชาวบ้าน ได้มีกิจกรรมร่วมต่างๆ ร่วมกับชาวบ้านที่นั้น โดยจะให้ความสำคัญเน้นหนักไปในกลุ่มของเด็กๆ และเยาชน โดยจะให้มีการใช้ชีวิตอยู่กับเด็กๆ และชาวบ้านชาวเขาที่นั้น เพื่อจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมพื้นบ้านของแต่ละชนเผ่าที่มีสืบเนื่องกันมาช้านาน ได้ศึกษาวิถีชีวิต สภาพความเป็นอยู่ จากการที่อาสาสมัครเหล่านั้นได้เข้าไปพักพิงอาศัยอยู่นั่นเอง และในขณะเดียวกันก็สร้างสัมพันธ์ ความสมานสามัคคีกันขึ้นระหว่างชาวบ้านกับอาสาสมัครเหล่านั้นด้วย
เพื่อได้ตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้ว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศของเรามากน้อยเพียงใด และนำไปสู่แนวทางในการคิดที่จะช่วยกัน และให้ความร่วมมือกันที่จะพัฒนาการศึกษาของเด็กๆ ที่ด้วยโอกาสเหล่านี้ให้มีการพัฒนามากขึ้นอีกด้วยและอีกกิจกรรมหนึ่งนั้น “ ครูบ้านนอก ” จะได้เข้ามาทำหน้าที่เป็น “ ครู ” ให้กับเด็กๆ โดยครูบ้านนอกจะนำความรู้ที่ตนมีเข้าไปสอนเด็กๆ เหล่านั้นที่ด้อยการศึกษา เพื่อเป็นการช่วยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ และช่วยชี้ให้เด็กๆ เห็นความสำคัญของการศึกษา อีกทั้งยังเป็นการร่วมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุก และมีสีสันให้เด็กๆ รู้สึกสนุกไปกับการศึกษา มีการร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางด้านการศึกษาของเด็กๆ และมาช่วยเพิ่มให้กำลังใจคุณครูที่ประจำอยู่ที่นั้นว่ายังมีคนที่มีจิตใจอาสาเช่นเดียวกับพวกเค้าอยู่อีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกัน ครูบ้านนอกเองก็จะได้เรียนรู้ถึงปัญหาในด้านการศึกษาของเด็กเหล่านั้นว่ายังมีเด็กๆ อีกจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดแคลนด้านการศึกษา
โครงการครูบ้านนอก เป็นโครงการที่มูลนิธิกระจกเงา ดำเนินงานในช่วงต้น ๆ โดยโครงการครูบ้านนอกเป็นโครงการที่เปิดรับบุคคลที่สนใจงานอาสาสมัคร เข้าร่วมงานจากทั่วประเทศ ซึ่งทางมูลนิธิได้ดำเนินการมาแล้ว 100 กว่ารุ่น และมีอาสาสมัครเข้ามาร่วมโครงการหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานราชการ คนทำงานบริษัทฯ นิสิต นักศึกษา ทั่วประเทศ มาร่วมกันอาสาขอเป็นครูบ้านนอก โดยมีอาสาสมัครที่มีอายุน้อยที่สุดคือ 6 ขวบ และ อายุมากที่สุด 67 ปี ในแต่ละรุ่นจะมีอาสาสมัครเข้ามาร่วมงานครูบ้านนอกโดยประมาณ 30 คน ต่อรุ่น หลังจากที่โครงการครูบ้านนอกได้ดำเนินงานมาระยะหนึ่ง กลุ่มเป้าหมายในการดำเนินงานได้ขยายวงกว้างขึ้น ได้รับความสนใจจากมหาวิทยาลัย ต่าง ๆ ให้ทางโครงการครูบ้านนอกจัดกระบวนการ ให้นิสิต นักศึกษา มาเรียนรู้ประสบการณ์ตรง เพื่อยกระดับจิตใจ ให้นิสิต นักศึกษา เกิดการรวมกลุ่มกันทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคมต่อไป
สำหรับกลุ่มเป้าหมายใหม่ ที่ทางโครงการครูบ้านนอก กำลังดำเนินการพัฒนาต่อยอดจากอาสาสมัครทั่วไป คือ บริษัทรัฐวิสาหกิจ ต่างๆ ที่มีบุคลากรโดยหลักจะนั่งทำงานประจำ คือทำงานตังแต่วันจันทร์ – วันศุกร์ โดยทางโครงการครูบ้านนอกมองว่า กลุ่มเป้าหมายนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่น่าให้สนใจมาก กล่าวคือมีที่มาจากหลาย ๆ สาเหตุหลายๆ อย่างประกอบเข้าด้วยกัน อาทิ ผู้ที่ทำงานรัฐวิสาหกิจนั้น จะมีการทำงานประจำของตัวเองอยู่ซ้ำๆเป็นประจำทุกวันจนอาจทำให้เกิดความเคยชินในการปฎิบัติกิจวัตรประจำวันของตัวเอง อาทิเช่น ตื่นนอนแต่เช้าเพื่อมาทำงาน พอตกเย็นก็ตรงกลับบ้านเพื่อรีบกลับไปพักผ่อนเพื่อจะได้ตื่นมาทำงานในเช้าวันต่อๆไป และในระหว่างการทำงาน ชีวิตก็ต้องมีแข่งขันอยู่ตลอดเวลา
ทั้งการแข่งขันกับเวลาที่รีบเร่ง แข่งขันกันตัวเอง อีกทั้งยังต้องขวนขวาย และต้องแข่งขันกับผู้อื่นเพื่อก้าวไปให้ถึงจุดหมายปลายทางที่ตนเองได้ตั้งความหวังเอาไว้ จนบางครั้งทำให้เกิดการชิงดีชิงเด่นกัน จนอาจนำมาสู่ปัญหากับตัวเองและผู้อื่นในท้ายที่สุด อีกทั้งยังเป็นการก่อให้เกิดปัญหาต่อทางสังคมได้อีกด้วย
ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงปัญหาเหล่านี้แล้วจะเห็นได้ว่าพวกเค้าเหล่านั้นในบางครั้งอาจจะมองแต่ความต้องการในด้านของตนเองเพื่อนำมาเป็นปัจจัยในการแข่งขันกันสิ่งต่าง ๆ ภายนอก หรืออาจสืบเนื่องมาจากเหตุที่ว่าพวกเขามุ่งเน้นให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตของตัวเองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดมากจนเกินไป จึงอาจส่งผลที่ตามมาคือ พวกเค้าเหล่านั้นจะลืมที่จะใส่ใจมองออกไปยังอีกด้านหนึ่งของสังคม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ในบางครั้งก็พวกเขาเหล่านั้นยังขาดการมองย้อนกลับมานึกทบทวนดูเรื่องราวรอบ ๆ ข้างของตนเอง สนใจอยู่แต่สิ่งที่อยู่ข้างหน้าของตัวเอง จึงอาจส่งผลทำให้พวกเขามองข้ามในเรื่องของการหยิบยื่นแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กับผู้อื่น หรือแม้แต่การให้ความช่วยเหลือผู้อื่นที่ด้อยโอกาสกว่าเราก็ตาม จึงอาจทำให้เกิดปัญหาต่อสังคมตามมาได้
โครงการครูบ้านนอกได้เล็งเห็นถึงปัญหาในเรื่องดังกล่าวข้างต้น จึงคิดได้ว่าว่า การที่นำพาซึ่งบุคลากรดังกล่าวมานี้ให้ได้ลองเข้ามามีส่วนร่วมในงานอาสาสมัครเป็นครูบ้านนอกเพื่อมารู้จักคำว่าทำเพื่อคนอื่น ช่วยเหลือคนอื่นดูบ้าง นอกเหนือจากการทำเพื่อตนเอง หรือมุ่งแต่จะช่วยเหลือตนเอง และเพื่อแสดงทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้ตระหนักถึงบทบาทของตนเองในสังคม ได้ทบทวนตนเองดูว่าได้มีส่วนช่วยเหลือสังคมมากน้อยเพียงใด ได้มองเห็นสังคม มองเห็นสิ่งต่างๆ ภายนอกในอีกแง่มุมหนึ่งที่อาจจะยังไม่เคยสัมผัส ที่นอกเหนือไปจากการใช้ชีวิตในกรอบชีวิตของตนเอง อีกทั้งเพื่อให้ได้ตระหนักในคุณค่าของการใช้ชีวิตเพื่อการช่วยเหลือผู้อื่น ว่ามีส่วนสำคัญเพียงใด และเพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้ที่รู้จักการเสียสละให้แก่ผู้อื่นได้
เป็นการยกระดับจิตใจ รู้จักการแบ่งปันให้เพื่อสังคม นอกเหนือจากการบริจาคของ บริจาคเงิน แต่เป็นการมาสัมผัสด้วยตนเอง นอกจากจะทำให้ผู้อื่นมีความสุขแล้วตนเองก็ยังจะได้ความสุขทางใจที่ได้เกิดจากการเป็นผู้ให้ และยังเป็นการผักผ่อนจิตใจหลังจากเหนื่อยล้าจากการทำงานหนักมาเป็นเวลานานได้อีกด้วย
วัตถุประสงค์
- เพื่อพัฒนาเสริมสร้าง ยกระดับจิตใจ ปลูกฝังจิตสำนึกในงานอาสาสมัครในสังคมไทย
- เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ประสานงานศูนย์ข้อมูลข่าวสาร สำหรับบริษัท หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ
- เพื่อส่งเสริมให้คนในสังคม ได้เข้ามามีโอกาสเข้ามาสนับสนุนงานกิจกรรมอาสาสมัคร
- เพื่อพัฒนาเด็ก และเยาวชน ในพื้นที่ชนเผ่า หรือพื้นที่ห่างไกล
- เพื่อสร้างกระแสการให้ และ การทำงานอาสาสมัคร เกิดขึ้นในสังคม
- เพื่อส่งเสริมแนวคิดการพักผ่อนในรูปแบบของการเป็นอาสาสมัครและเกิดประโยชน์ ต่อสังคม
เป้าหมาย ของ “ กองทุนครูบ้านนอก ”
1. หลักการในการจัดตั้งกองทุนครูบ้านนอก เพื่อช่วยเหลือชุมชนที่ครูบ้านนอกเข้าไปทำกิจกรรมในเขตพื้นที่ทำงานของมูลนิธิกระจกเงาในตำบลแม่ยาว อ.เมือง
จ.เชียงราย และพื้นที่ใกล้เคียง และพื้นที่อำเภอแม่อายและอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
2. เพื่อสมทบทุนในการทำค่ายสร้าง หรือการก่อสร้างต่าง ๆ ในส่วนของชุมชนและสถานศึกษาที่ยังขาดแคลนสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นโดยการประเมินการก่อสร้างจากงบประมาณที่มีอยู่และร่วมสนับสนุนในการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น เช่นสร้างอาคารเรียน สร้างห้องสมุด สร้างห้องน้ำ สร้างระบบน้ำ ( ปะปาภูเขา ) หรือ การซ่อมแซม ต่อเติม อาคารต่างๆ ของชุมชน
3. เพื่อสนับสนุนกองทุนภายในโรงเรียนที่ทางคณะครูบ้านนอก เข้าไปทำกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกองทุนอาหารกลางวัน สำหรับเด็ก ๆ ในโรงเรียน เรื่องกิจกรรมทัศนะศึกษา หรือ กิจกรรมพิเศษ ด้านอื่น ๆ
4. เพื่อสมทบทุนกองทุนวัฒนธรรมของชาวบ้านที่ครูบ้านนอกเข้าไปทำกิจกรรม และเพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ชาวบ้านรักษ์ และคงไว้ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของเผ่าตน โดยการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมิให้วัฒนธรรมเหล่านั้นเลือนหาย
5. ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เกิดความสามัคคีร่วมมือร่วมใจในชุมชนขึ้น