คิดถึงจะต๋อเบอ

ครูบ้านนอกรุ่น 86 

บ้านจะต๋อเบอ  23-27  ตุลาคม 2549

จากนี้ไปสิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็น ตำนาน…….
“จะให้พูดถึง สิ่งที่กลายเป็นประวัติศาสตร์  นั้นหมายถึงสิ่งที่ผ่านมานาน แต่ครูบ้านรุ่นนี้เพิ่งผ่านไปไม่กี่เดือน จะเรียก “ตำนาน” ก็ไม่ถูก แต่ก็เอาเถอะ มันดูมีความขลังมากกว่า

ที่เห็นๆ คงจะเป็น ตำนาน ของ “ แก๊งค์ลูกหมู” เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง คงพอจะทราบนะ คนที่จะเข้าแก๊งค์ลูกหมูนี่เป็นยังไง “พุง” ครับ “พุง” ต้องมาเป็นอันดับแรก นับจาก วัยวุฒิ เลยนะ ครูแฟ้บ ครูเปี๊ยก ครูบอลล์  ( สามคนนี้ก็ร่วม สามร้อย กิโล แล้ว ) ครูรุต ครูเต๋า ครูทัย ครูทัช  รวมเข้าไปอีก ร่วม 1000 กิโล แน่เลย พอครูออกมาเต้น ประกอบเพลง ลูกหมู เด็กๆ ก็มี ฮากันใหญ่ แต่ที่ผมดูนะไม่เฉพาะแค่เด็ก ครูเองก็ฮา ชาวบ้านก็ฮา”

มาเข้าเรื่องดีกว่า หลังจากอารัมภบทมาตั้งยาว  ครูรุ่นนี้เขาทำอะไร   เขาอยู่ยังไง   อย่ามัวคิดเลยติดตามเลยดีกว่า…..

 

ครูบ้านนอกรุ่นนี้เดินทางมาจากหลายทิศทางของเมืองไทยถิ่นนี้   บ้างมาจากใต้ อย่างครูเปิ้ล (ภูเก็ต) ครูตาล บ้างมาจากภาคอีสาน อย่างครูเปี๊ยก ครูอ๋อ   และอีกหลายจังหวัด โดยทุกคนที่มา จะมา พบกันที่ป้อม สห.ขนส่งจังหวัดเชียงราย และจะมีทีมงานไปรับ ก่อนเดินทางเข้ามาที่มูลนิธิกระจกเงา ก็จะนำทีมคณะครูบ้านนอกไปสักการะพ่อขุนเม็งราย   ก่อนเดินทางไปกระจกเงาเพื่อปฐมนิเทศน์และเตรียมเดินทางเข้าหมู่บ้าน

เวลาบ่ายวนเวียนมาถึงช่วงเวลานี้แหละ…ที่คณะครูบ้านนอกจะได้เจอกับความ จริงที่เขาจะได้ไปสัมผัสด้วยตนเอง   การเดินทางเริ่มขึ้นอีกครั้งแต่เป็นการเดินเท้า ก้าวขาเข้าหมู่บ้าน จะต๋อเบอ   “อีกไกลไหมคะ?” คำถามนี้ทุกคนถามเมื่อเดินผ่านทีมงานที่นั่งรอระหว่างทาง “อีกนิดเดียวครับ เดี๋ยวก็ถึงแล้ว อีกไม่ไกลหรอกครู…” …” เมื่อเดินผ่านทุกช่วงทีมงานก็จะตอบอย่างนี้   ทีมงานก็ตอบถูกแล้ว เพราะว่าอีกนิดเดียว บรรดาผู้ที่เดินทางมาร่วมโครงการ ก็จะได้สัมผัสกับคำว่า “ครูบ้านนอก” ก็ทุกคนอุตส่าห์เดินทางมาร่วมพัน กิโล ทนนั่งรถมาทั้งคืน   แค่เดินจากปากทางมาถึงหมู่บ้านจะต๋อเบอแค่ 7 กม. มันแค่นิดเดียวจริง ๆ อีกนิดเดียวจิตวิญญาณที่มุ่งมั่นทุกดวงก็จะได้ใช้งานกันสักที

 

บ้านจะต๋อเบอเป็นหมู่บ้านชนเผ่าลาหู่ ที่ตั้งอยู่บริเวณระหว่างเขา 2 ลูก มีห้วยเล็กๆไหลผ่ากลางหมู่บ้านเป็นที่มาของคำว่าบ้านเหนือ บ้านใต้ (อันนี้บรรดาครูตั้งกันเอง จะมาจากอะไรโปรดติดตาม) กลาง หมู่บ้านจะมีลำห้วยแห่งนี้เป็นเส้นแบ่งเขตแดน นาทีที่ระทึกใจที่สุดคือ ตอนที่เด็กเลือกครูเข้าบ้าน(ใครจะไปอยู่บ้านไหน ใกล้-ไกล นี่แล้วแต่ดวง)และ ก็เป็นที่มาของคำว่าบ้านเหนือ บ้านใต้ เพราะครูที่มามีชื่อซ้ำกัน คือ ดาว เปิ้ล และชื่อที่คล้ายกัน เช่น ติ๊ก ตุ๊ก ตั้ก ต้น ฯลฯ จึงต้องมีการเรียกคำต่อท้ายตามบ้านที่ไปอยู่ (โชคดีอย่างมากที่ครูชื่อเหมือนกัน ไม่ได้อยู่ฝั่งเดียวกัน)

ส่วนอาคารที่ครูใช้สอนและทำกิจกรรมก็ตรงกลางหมู่บ้านฝั่งใต้ “มีอีกอย่างหนึ่งในที่มาของชื่อ บ้านเหนือ บ้านใต้ คือมีครูสองคนชื่อ“ดาว”เหมือนกัน เราเลยเรียกกันตามบ้านที่ไปอยู่ว่า“ครูดาวเหนือ”(บ้านบน)   “ครูดาวใต้” (บ้านล่าง)” ครูดาวบ้านนี้คงจะกลายเป็นเรื่องเล่าไปอีกนาน……เพราะ ครูแก จะถนัดมากในการทำอาหาร และน้ำใจงาม จนได้ ฉายา “นางฟ้าบนดอย” เล่ามาก็นานรู้จักครูกันก็เยอะ

 

กิจกรรมที่เรา เหล่าครูบ้านนอกร่วมกันทำในหมู่บ้าน จะต๋อเบอนี้มีหลายอย่าง สลับสับเปลี่ยนกันเป็นครูบ้าง เป็นนักเรียนให้เด็กสอนบ้าง ตามแต่สถานการณ์  เช่น สอนเด็ก เรียนรู้แต่ละฐานการเรียนรู้ สอนผู้ใหญ่ให้เขียนชื่อตัวเองเป็น คณะครูบ้านนอกก็เป็นครู ของเด็กและชาวบ้าน แต่เมื่อถึงเวลาเดินน้ำตก ตัดไม้ไผ่ทำถังขยะ คราวนี้หละสลัดคราบจาก “ครู”กลายเป็น “นักเรียน”  จาก นักเรียน ตัวน้อยกลับกลายเป็น ครู ผู้รอบรู้ด้วยประสบการณ์ ยกตัวอย่าง … เช่นการเดินทางไปน้ำตก … ครูไม่สามารถไปถึงได้ถ้าไม่มีเด็ก ๆ นำทาง ไม่สามารถรู้ได้ว่าต้นไม้ระหว่างทางคือ ต้นอะไร ต้นไหน กินได้ ต้นไหนเป็นยา ต้นไหนเป็นพิษ ถ้าเด็กไม่บอก   ถึงเวลาทำถังขยะ   เด็กและคณะครูไปช่วยกันตัดไผ่ ก็อีกนั้นแหละ ครูตัดไผ่ กันไม่รู้วิธี   1 ฉึก 2 ฉึก 3 ฉึก 4 ฉึก 5 ฉึก ก็แล้ว ไผ่ก็ยังไม่ขาดจากลำ   เด็กมาฟัน แค่ 3 ฉึก ขาด   ครู งง… ของแบบนี้มันมีวิธีครับครู น้าน..ว่าไงหละ เจอเด็กตอบสวนกลับมา

กลับมา อีกอย่างที่ครูไม่สามารถทำได้เลย เกือบทุกบ้าน ทั้ง ๆ ที่มันเป็นชีวิตประจำวันที่ต้องเจอทุกวัน แต่ต่างกันที่วัตถุและความเป็นอยู่ คือ การก่อไฟ เพื่อทำอาหาร และการหุงข้าว บางบ้านการทำอาหาร ด้วยซ้ำที่ครูแทบทุกบ้านต้องพึ่งพาเด็กและชาวบ้าน เพราะถ้าพลาดไป บ้านที่ครูเข้าไปพักอาจมอดทั้งหลังก็ได้  ได้  เนื่องจากบ้านที่พักแทบทุกหลังมุงด้วยแฝก   ฝาทำด้วยไผ่สาน   มันจึงเป็นชนวนที่ติดไฟได้เป็นอย่างดี กลางคืน..เราก็มีกิจกรรมรอบกองไฟให้ครูและชาวบ้าน เด็ก ๆ ได้สนุกสนานกัน ครูบ้านนอกก็งัดกิจกรรมกันมาโชว์ลวดลายกันน่าดู ใช่ว่าจะให้โชว์เพียงคนเดียวฉายเดี่ยวนะครับ  เราจะมีการแบ่งทีมเป็น 4 ทีม ตลอดระยะเวลา 4 คืน ที่อยู่ในหมู่บ้าน

 

เพื่อนำกิจกรรมในแต่ละคืน ซึ่งเป็นการเรียก รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ได้เป็นอย่างดี สิ่งที่ประทับใจไม่รู้ลืม …..“อันนี้ก็ตอบไม่ได้ ไปถามครูเขาดูเองก็แล้วกัน เพราะการเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น ถ้าเท้าเรายังก้าวเดิน ”
การเดินทางมาครั้งนี้ได้อะไรกลับไปบ้าง ระหว่างทางเราได้เก็บเกี่ยวอะไรไปบ้าง ชาวบ้านและเด็ก ๆ ได้สอนอะไรเราบ้าง เราได้ให้อะไรกับเด็ก ๆ และชาวบ้านบ้าง   คนที่มานั้นและคือผู้ที่รู้คำตอบ และมันขึ้นอยู่กับใครถ้าไม่ใช่ตัวเรา

Leave a Reply

scroll to top