(จะเด็จ) พรอนันต์ ผาสุก
หัวหน้าโครงการฅนอาสา
( 2538 – 2558 )
jadad@bannok.com
www.facebook.com/jadadbannok
การเดินทางของลูกผู้ชายคนหนึ่งที่มีหัวใจเต็มเปี่ยมในด้านของงานอาสา ที่ชื่อ จะเด็จ หรือพรอนันต์ ผาสุก ยังมีอีกหลายสิ่งในชีวิตที่เขายังไม่รู้และต้องการค้นหา งานอาสาเหล่านี้นับว่าเป็นงานที่ท้าทายมากสำหรับเขา เพราะมันทำให้เรียนรู้และค้นพบอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง สิ่งเหล่านี้นี่เองที่ทำให้เขาก้าวเข้ายืนอยู่นะจุดๆ นี้
“ตอนแรกรู้จักเพียงแค่ชื่อ “กลุ่มกระจกเงา” ที่ทำงานด้านละคร โดยมีพี่คนหนึ่งแนะนำมา ช่วงนั้นเลยเข้าไปดูรายละเอียดต่าง ๆ ขององค์กร โดยผ่านwww.bannok.com จากนั้นเลยตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการครูบ้านนอก รุ่น 51 ประมาณต้นปี 2546 โดยใช้เวลา 4 คืน 5 วัน ของศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา ทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างที่เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ในการเรียนรู้จากเด็กและ ครูอาสาด้วยกันเอง ” คุณจะเด็จเล่าถึงความรู้สึกที่รู้จักกระจกเงา ๆไทำให้เขาได้ก้าวเข้ามาสู่สภาพแวดล้อมของศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา ในฐานะของ “คนอาสา” ที่เขาพร้อมจะทำงานเพื่อสังคมและประโยชน์ส่วนรวมอย่างเต็มศักยภาพ ”
เขาบอกกับเราอีกว่า “ถ้าพูดถึง”งานอาสาสมัคร” เราก็ต้องคำนึงถึงงานที่จะต้องยินยอม พร้อมใจ ที่จะต้องยอมเสียสละความสุขส่วนตัวมาทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม งานอาสาสมัครนั้นนับว่าเป็นงานที่ท้าทายมากสำหรับผมเพราะเป็นงานที่สามารถหาประสบการณ์ใหม่ ๆ มาเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา ได้สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่จริงได้ทำงานกับกลุ่มเป้าหมายจริงและที่สำคัญได้แลกเปลี่ยนทัศนคติและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ส่วนงานอาสาสมัครกับการพัฒนานั้นเป็นสิ่งที่ควบคู่กันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานพัฒนาด้านเด็ก งานพัฒนาด้านการศึกษา งานพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและงานพัฒนาทางด้านต่าง ๆ ก็ต้องอาศัยกลุ่มบุคคลที่เรียกตนเองว่า “อาสาสมัคร” มาร่วมงานด้วยเพื่อให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่ก็ต้องคำนึงถึงการวางแผนและเตรียมงานที่ดี เพื่อที่กลุ่มบุคคลที่มาร่วมงานเป็นอาสาสมัครนั้นทำงานได้เต็มศักยภาพ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำงานให้ได้มากที่สุดเพื่อมาพัฒนาตนเองสืบต่อไปในอนาคต”
หลังจากที่ทำงาน อาสาสมัครบ้านนอก มาช่วงระยะหนึ่ง จากนั้นได้เขาก็เข้ามาช่วยงาน ฝ่ายงานระดมทุนเพื่อสังคม ( มีโครงการครูบ้านนอก โครงการนักศึกษาฝึกงาน โครงการอาสาสมัครบ้านนอก โครงการกองทุนเสื้อผ้ามือสอง โครงการกองทุนเด็กดอย ) ช่วงนั้นครูกบ ติดดอย เป็นคนชวนเข้ามาช่วยงานประจำฝ่าย ฯ มีหน้าที่รับผิดชอบดูแล โครงการนักศึกษาฝึกงาน โครงการเสื้อผ้ามือสอง และเป็นผู้ช่วยฝ่ายงานระดมทุนเพื่อสังคม ในการดำเนินงาน ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของฝ่าย ฯ จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนตัวเองจากอาสาสมัคร ที่ไม่รับเงินเดือน มาเป็นเจ้าหน้าที่ประจำโครงการ ฯ ของฝ่ายระดมทุนเพื่อสังคม .. จึงเป็นที่มาของการทำงานที่มูลนิธิกระจกเงา เชียงรายและเมื่อเหนื่อยล้าจากงาน เขามักจะมานั่งเล่น นั่งอ่านหนังสือที่มุมโปรดของเขา ซึ่งมองเห็นวิวที่สวยที่สุดของกระจกเงาเพื่อสัมผัสโลกภายนอก ผ่านประตูบานใหญ่ที่เล็กๆ ในมุมหนึ่งของบ้านดินเป็นที่พักพิงของชายคนนี้ซึ่งมีหัวใจรักในการอ่านเป็นกิจวัตร ช่วงเวลาเลิกงานหรือมีเวลาว่างมุม เพื่อเพิ่มเติมความรู้ให้เขาได้มีทัศนะที่กว้างไกลขึ้นเมื่อเห็นกล้องถ่ายรูปถูกทิ้งวางไว้ เขามักหยิบมันขึ้นมาเล็งผ่านช่องมองภาพ บางครั้งก็ลั่นชัตเตอร์ ถ้าเห็นว่ามุมนี้สวย แต่เขามักจะไม่ค่อยเห็นรูปที่เขาถ่ายสักเท่าไหร่….เพราะมันไม่ใช่กล้องของเขาเอง (หัวเราะ)
คำว่า “ทำงานใหญ่ ใจต้องนิ่ง” นี่คือคำพูดของเขาที่มักพูดเสมอและจะยิ้มออกเสมอด้วยความภาคภูมิใจเมื่อทำงานเขาจะเต็มที่กับงานไม่ว่าจะหนักเท่าใดด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มของนักพัฒนา
ก่อนที่จะกลับเราถามเขาอีกหนึ่งคำถามว่า คำว่า “คนกระจกเงา” สำหรับเขาคืออะไร
“คิดว่า กระจกเงาเป็นเเหล่งบ่มเพาะคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ เดินทางผ่านเข้ามาเป็นการเปิดใหม่คนรุ่นหลัง ๆ ได้เข้ามาสัมผัสงานอาสาสมัคร มีการจัดกระบวน จัดระบบความคิด การติดตั้งความคิดให้คนรุ่นหลัง ๆ ได้เรียนรู้กันโดยส่วนตัว คิดว่า กระจกเงา เป็นสถาบัน เป็นเเหล่งเรียนรู้ เป็น มหาวิทยาลัย อีกที่หนึ่ง ที่หลายคนอยากเข้ามาสัมผัส อยากเข้ามาเรียนรู้ แต่ด้วยเหตุผลหลายประการ ทำให้คนเหล่านั้นไม่มีโอกาส ได้เข้ามาสัมผัส”
รอยยิ้มและแววตาบ่งบอกถึงความมุ่งมั่นของชายคนหนึ่งที่พร้อมจะสู้แม้ว่าข้างหน้าจะมีอุปสรรคขวากหนามมากเท่าใดเขาก็จะฟันฝ่าด้วยรอยยิ้ม ขอเพียงใจและกายพร้อมก็เป็นพอ…