จากจิตอาสาแปรเป็นการตามหาความฝัน

จากการทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อพัฒนาชีวิตของตนเอง เพื่อคลายความเหงา เพื่อหาสังคมใหม่ ผมเริ่มมาสนใจสิ่งที่เคยฝันไว้ตั้งแต่เด็ก นั่นคือการเป็นครู ผมเริ่มตามความฝันจากสิ่งที่พอทำได้ก่อน นั่นคือ การลองไปจัดกิจกรรมกับเด็ก ทีนี้ผมก็สนใจชีวิตของเด็กบนดอยพอสมควร เนื่องจากผมเป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิด เลยสนใจอะไรที่ค่อนข้างใกล้ตัว ดังนั้น ผมก็เริ่มเข้าไปหาข้อมูลในเว็บครูบ้านนอก ประกอบกับคนที่ผมรู้จักตอนที่ทำจิตอาสาด้วยกันเขาเคยไปครูบ้านนอกมาแล้ว จึงเริ่มสนใจและหาเวลาไปครูบ้านนอกดูwpid-b612-2015-08-13-17-06-20.jpg

         ครั้งแรกที่ผมไปเป็นช่วงหน้าฝน วันแม่ซึ่งเป็นวันหยุดยาว ครั้งนั้นไปเป็นครูอาสาบนดอยที่หมู่บ้านอยู่สุข ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายเป็นเวลา ๔ วัน ได้สอนเด็กนักเรียนที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยา ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงประถมศึกษาปีที่ ๓ ถึงแม้ว่าชุมชนที่ข้าพเจ้าได้ไปทำกิจกรรมนั้นจะมีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างครบครัน ได้แก่ ถนน ไฟฟ้า และน้ำประปา แต่หากกลับมาวิเคราะห์ถึงนักเรียนที่มาเรียนในโรงเรียน พวกเขาเป็นเยาวชนที่มาจาก ๒ หมู่บ้านด้วยกัน คือ หมู่บ้านอยู่สุข และหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง นักเรียนมาจากหลายชนเผ่า เช่น อาข่า จีน เป็นต้น อีกทั้งอายุของนักเรียนบางคนก็แตกต่างไปจากคนอื่น บางคนอายุ ๑๐ กว่าปีแล้วพึ่งจะเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ผมจึงเห็นความหลากหลายในหมู่นักเรียนด้วยกันเอง อย่างไรก็ตาม นักเรียนทั้งหลายต่างมีน้ำใจและให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรม กิจกรรมดังกล่าวจึงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

         ครั้งต่อมาเป็นช่วงวันพ่อ ผมได้ไปทำกิจกรรมที่หมู่บ้านแม่สามแลบ ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นเวลา ๔ วัน ในครั้งนี้มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งสร้างห้องน้ำ สอนหนังสือ อบรมภัยพิบัติ และทำกับข้าว ผมอาสาที่จะอบรมภัยพิบัติเนื่องจาก เป็นการทำสิ่งแปลกใหม่ การอบรมไม่ได้เป็นแบบบรรยายบอกเล่า แต่เป็นการเล่นเกม เราต้องอบรมกับเด็กหลายกลุ่มซึ่งแต่ละกลุ่มอายุไม่เท่ากัน จึงต้องปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละกลุ่ม ผมได้อบรมภัยพิบัติทางน้ำ ได้ฟังเด็กเล่าประสบการณ์ที่เขาเคยพบเจอตอนน้ำป่าไหลหลากและประสบการณ์การใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นเขตแบ่งชายแดนไทย-เมียนมาร์ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเด็กและเรา ความจริงมีกิจกรรมสำรวจธรรมชาติด้วย แต่อยากให้คนที่ได้ทำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดีกว่านะ

         อีกครั้งหนึ่งเป็นช่วงวันปีใหม่ ผมได้ไปทำกิจกรรมที่หมู่บ้านแม่ป๊อกบน ตำบลมืดกา อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลา ๔ วัน ในครั้งนี้มีกิจกรรมสร้างห้องน้ำ สอนหนังสือ จัดงานวันเด็ก และเล่นกีฬาร่วมกับชาวบ้าน ครั้งนี้ผมได้ไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชนเผ่ากะเหรี่ยงโพล่ และได้ไปเห็นหมู่บ้านนั้นไม่มีโรงเรียน มีเพียง ศศช. (ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา) ครูประจำ ศศช. ก็มีเพียงคนเดียว หนทางไปหมู่บ้านนั้นก็ยากลำบากกว่าที่เคยไปมา ครั้งนี้ผมจึงรู้สึกเป็นการไปทำกิจกรรมบนดอยที่ท้าทายที่สุด

         การไปร่วมกิจกรรมกับครูบ้านนอกในแต่ละครั้งผมก็ได้พบปะผู้คนที่มีความหลากหลายเช่นกัน ครั้งแรกผมได้เจอนักศึกษานานาชาติที่ช่วงนั้นเขาปิดเทอมพอดี อีกทั้งสำนักพิมพ์อ้ายหนูน้อยที่จัดตั้งใน สปป.ลาว ก็ส่งพนักงานมาร่วมกิจกรรม เลยได้ฝึกคุยกับชาวลาวซะเลย ครั้งที่สองที่หมู่บ้านแม่สามแลบ ครั้งนั้นมีคนเข้าร่วมเกือบ ๕๐ คน เยอะมาก ผมก็รู้สึกเกร็งเหมือนกัน ไม่รู้จะเริ่มจากใครดี แต่แล้วด้วยความบังเอิญ ก็ได้พบกับครูบ้านนอกที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมครั้งแรกมาแล้ว เลยทำให้คลายกังวลไปได้บ้าง ครั้งนั้นผู้คนส่วนใหญ่เป็นสายปาร์ตี้เข้าสังคม ส่วนอีกครั้งที่ดอยเต่า มีผู้เข้าร่วมเกือบ ๕๐ คน เช่นกัน มีนักเรียนดุริยางค์จาก ม.มหิดล เข้าร่วมด้วย นับว่าเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้พวกเขา ครั้งนั้นผู้คนส่วนใหญ่ชอบการผจญภัย

         เท่าที่ผมได้ร่วมกิจกรรมกับครูบ้านนอก จุดเด่นของครูบ้านนอกก็คือการทำความเข้าใจวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้น เราจึงต้องไปนอนที่บ้านของชาวบ้าน ทำกับข้าวกินกับเจ้าบ้านโดยใช้วัตถุดิบที่จัดมาให้ นอกจากนั้นทุกคืนจะมีกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ให้กับคนที่เข้าร่วมกิจกรรม ทำให้เรารู้สึกสนิทสนมกันมากขึ้น มีแจกของให้ buddy ด้วย บางครั้งก็ต้องเดินเท้าเข้าไปยังหมู่บ้าน คล้ายๆ เดินทางไกล ผมต้องขอขอบคุณครูต้นซุง ครูสายลม และทีมงานทุกคนด้วยนะครับ ที่จัดกิจกรรมดีๆ ให้พวกเราที่สนใจอยากไปใช้ชีวิตบนดอยครูอาสา

         เมื่อผมได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมกับครูบ้านนอกแล้ว ผมก็รู้สึกว่าผมควรทำตามเสียงเรียกร้องของหัวใจต่อไป จึงได้เริ่มวางแผนอย่างจริงจังเพื่อไปเป็นครู จึงได้สมัครครูอาสาเกื้อฝันเด็ก ความจริงผมได้เจอประกาศรับสมัครตั้งแต่รุ่นที่ ๒ แล้ว (หน้าหนาว ปี ๒๕๕๗) แต่ว่าผมยังไม่ได้ใส่ใจมากนัก เมื่อได้ไปครูบ้านนอกครั้งแรกแล้ว ผมเริ่มสมัครรุ่นที่ ๔ (หน้าหนาว ปี ๒๕๕๘) ปรากฏว่า เรียงความของผมไม่ได้รับการคัดเลือก ทำให้ผมต้องกลับมาวางแผนอีกครั้งหนึ่ง โชคดีที่ผมได้รู้จักกับครูอาสาเกื้อฝันเด็กรุ่น ๓ (หน้าฝน ปี ๒๕๕๘) คนหนึ่ง ผมจึงได้รับคำแนะนำดีๆ จากเขา ทำให้ผมยังมีกำลังใจที่จะสมัครครั้งต่อไป เมื่อถึงเวลาประกาศรับสมัครรุ่นที่ ๕ (หน้าฝน ปี ๒๕๕๙) ผมจึงตั้งใจสมัครอีกครั้งหนึ่ง ในที่สุดเรียงความของผมก็ได้รับการคัดเลือก แล้วก็ถึงเวลาสอบสัมภาษณ์ หลังจากสัมภาษณ์เสร็จ ตอนแรกผมก็ไม่ค่อยมั่นใจว่าจะผ่าน แต่สุดท้ายก็ผ่านจนได้ ต้องขอขอบคุณมูลนิธิเกื้อฝันเด็กและเครือข่ายจิตอาสาที่ให้โอกาสผมด้วยนะครับ

         เมื่อได้เป็นครูอาสาเกื้อฝันเด็กผมก็รู้สึกตื่นเต้นและกังวลอยู่เหมือนกัน จากที่เคยไปใช้ชีวิตอยู่บนดอยแค่ ๔ วัน แต่ตอนนี้ต้องใช้ชีวิตถึง ๔ เดือน แต่ในเมื่อเราตัดสินใจแล้ว เราก็ต้องกล้าที่จะลองต่อไป หนทางแห่งความฝันต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นและความตั้งใจของตนเอง

 

เล่าเรื่องโดย  ครูเบียร์ 168

Leave a Reply

scroll to top